วันเสาร์ที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2558

การขอผัดฟ้องเด็กหรือเยาวชนกรณีฟื้นฟูฯ ไม่ผ่าน

คำพิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดพะเยา 
คดีหมายเลขดำที่ ๕๗/๒๕๕๘ คดีหมายเลขแดงที่ ๖๘/๒๕๕๘ ลงวันที่ ๘ ก.ค.๒๕๕๘
คดีความผิดต่อพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ
              พนักงานอัยการเป็นโจทก์ ฟ้องเยาวชนเป็นจำเลยว่ามียาเสพติดให้โทษชนิดเมทแอมเฟตามีน จำนวน ๒ หน่วยการใช้ น้ำหนัก ๐.๑๓๖ กรัม ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต กล่าวคือ เมื่อวันที่ ๕ ส.ค.๒๕๕๗ เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมตัวจำเลยได้พร้อมของกลางส่งพนักงานสอบสวนดำเนินคดี ในวันที่ ๖ ส.ค.๒๕๕๘ พนักงานสอบสวนได้ยื่นคำร้องขอให้ตรวจสอบการจับ แล้วศาลมีคำสั่งให้ส่งตัวจำเลยไปตรวจพิสูจน์ในวันเดียวกัน
             แม้ในระหว่างการควบคุมเพื่อตรวจพิสูจน์จะยังไม่นับรวมระยะเวลาที่กำหนดให้พนักงานสอบสวนยื่นคำร้องขอผัดฟ้องตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.๒๕๕๓ มาตรา ๗๘ วรรคหนึ่ง ถึงวรรคสาม (มาตรา ๗๘ "เมื่อมีการจับกุมเด็กหรือเยาวชนซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดตามมาตรา ๖๙ วรรคหนึ่ง หรือกรณีเด็กหรือเยาวชนปรากฏตัวอยู่ต่อหน้าพนักงานสอบสวนตามมาตรา ๗๐ วรรคหนึ่งให้พนักงานสอบสวนรีบดำเนินการสอบสวน และส่งสำนวนการสอบสวนพร้อมทั้งความเห็นไปยังพนักงานอัยการ เพื่อให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องต่อศาลเยาวชนและครอบครัวให้ทันภายในสามสิบวันนับแต่วันที่เด็กหรือเยาวชนนั้นถูกจับกุมหรือปรากฏตัวอยู่ต่อหน้าพนักงานสอบสวน แล้วแต่กรณี
            ในกรณีความผิดอาญาที่มีอัตราโทษอย่างสูงตามที่กฎหมายกำหนดไว้ให้จำคุกเกินหกเดือนแต่ไม่เกินห้าปี ไม่ว่าจะมีโทษปรับด้วยหรือไม่ก็ตาม หากเกิดความจำเป็นไม่สามารถฟ้องเด็กหรือเยาวชนนั้นต่อศาลได้ทันภายในระยะเวลาดังกล่าวในวรรคหนึ่ง ให้พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการแล้วแต่กรณี ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอผัดฟ้องต่อไปได้อีกครั้งละไม่เกินสิบห้าวัน แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินสองครั้ง
            ในกรณีความผิดอาญาที่มีอัตราโทษอย่างสูงตามที่กฎหมายกำหนดไว้ให้จำคุกเกินห้าปีไม่ว่าจะมีโทษปรับด้วยหรือไม่ก็ตาม เมื่อศาลสั่งอนุญาตให้ผัดฟ้องครบสองครั้งแล้ว หากพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอผัดฟ้องต่อไปอีก โดยอ้างเหตุจำเป็น ศาลจะอนุญาตตามคำขอนั้นได้ต่อเมื่อพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการได้แสดงถึงเหตุจำเป็นและนำพยานมาเบิกความประกอบจนเป็นที่พอใจแก่ศาล ในกรณีเช่นว่านี้ศาลมีอำนาจสั่งอนุญาตให้ผัดฟ้องต่อไปได้อีกครั้งละไม่เกินสิบห้าวัน แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินสองครั้ง") ก็ตาม
            แต่ปรากฏว่าเมื่อวันที่ ๑๓ พ.ย.๒๕๕๗ คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดได้มีคำสั่งส่งตัวจำเลยคืนไปยังพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการเพื่อดำเนินการต่อไป ดังนั้น ระยะเวลาผัดฟ้องของพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการจึงดำเนินการต่อไป ดังนั้น ระยะเวลาผัดฟ้องของพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการจึงเริ่มนับต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๗ ดังกล่าวต่อไป คงเหลืออีก ๒๙ วัน
            ดังนั้น เมื่อไม่ปรากฏว่าพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการยื่นคำร้องขอผัดฟ้องภายใน ๒๙ วัน นับแต่วันที่ ๑๓ พ.ย.๒๕๕๗ จึงถือว่าพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการมิได้ยื่นคำร้องขอผัดฟ้องภายในเวลาที่กำหนด และพนักงานอัยการก็ไม่ได้รับอนุญาตจากอัยการสูงสุดเพื่อฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดเวลาตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.๒๕๕๓ มาตรา ๘๐ มีผลทำให้พนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้อง
            แม้จะได้ความตามฟ้องของโจทก์ว่า พนักงานสอบสวนสามารถติดตามตัวจำเลยได้เมื่อวันที่ ๑๓ มิ.ย.๒๕๕๘  และผู้ว่าราชการจังหวัดเห็นชอบกับคำสั่งไม่ฟ้องเมื่อวันที่ ๑ ก.ค.๒๕๕๘ ก็ตาม ก็เป็นเรื่องที่พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการรวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องดำเนินการภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด ไม่เกี่ยวข้องกับระยะเวลาผัดฟ้องแต่อย่างใด

           ข้อสังเกต
            -  เมื่อเจ้าพนักงานตำรวจทำการทดสอบปัสสาวะของเด็กหรือเยาวชน แล้วพบว่ามีการเสพยาเสพติดให้โทษชนิดเมทแอมเฟตามีนมาก่อน โดยเจ้าพนักงานตำรวจไม่เห็นขณะเด็กหรือเยาวชนขณะกำลังเสพยาเสพติดที่ถือว่าเป็นการกระทำความผิดซึ่งหน้า กรณีนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมาย โดยทั่วไปเจ้าพนักงานตำรวจจะไม่จับกุมเด็กหรือเยาวชนในข้อหาเสพยาเสพติดให้โทษ แต่เนื่องจากในคดีนี้ เยาวชนเป็นผู้ต้องหาได้ครอบครองยาเสพติดให้โทษด้วย จึงถือว่าเป็นการกระทำความผิดซึ่งหน้า
           -  เชื่อว่า คดีนี้หลังจากที่ศาลมีคำสั่งให้ควบคุมระหว่างตรวจพิสูจน์ ผู้ต้องหาที่เป็นเยาวชนได้รับการอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวไปแล้ว แต่พนักงานเจ้าหน้าที่ไม่อาจติดตามตัวผู้ต้องหานั้นมามอบคืนให้พนักงานสอบสวนได้ ในวันที่คณะอนุกรรมการฟื้นฟูฯ ได้มีคำสั่งส่งตัวผู้ต้องหาคืนไปยังพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินการต่อไป(วันที่ ๑๓ พ.ย.๒๕๕๗) ต่อมาวันที่ ๑๓ มิ.ย.๒๕๕๘ พนักงานสอบสวนจึงสามารถติดตามตัวได้ พนักงานอัยการจึงได้ทำความเห็นสั่งไม่ฟ้องบางข้อหาส่งสำนวนการสอบสวนไปให้ผู้ว่าราชการจังหวัด จนกระทั่งวันที่ ๑ ก.ค.๒๕๕๘ ผู้ว่าราชการจังหวัดจึงเห็นชอบกับคำสั่งไม่ฟ้อง(ในข้อหาเสพฯ) แต่พนักงานอัยการสั่งฟ้องในข้อหามียาเสพติดให้โทษไว้ในครอบครองฯ ซึ่งขั้นตอนการทำความเห็นของพนักงานอัยการและของผู้ว่าราชการจังหวัดนั้น ไม่เป็นเหตุให้ยกเว้นหรือเกี่ยวข้องกับระยะเวลาการผัดฟ้องแต่อย่างใด
          -  นับแต่วันที่ผู้ต้องหาถูกจับพร้อมของกลางส่งพนักงานสอบสวนดำเนินคดี พนักงานสอบสวนได้ยื่นคำร้องต่อศาลขอให้ตรวจสอบการจับและขอให้ศาลส่งตัวจำเลยไปตรวจพิสูจน์ด้วย ต่อมาปรากฏว่า คณะอนุกรรมการฟื้นฟูฯ ได้มีคำสั่งส่งตัวจำเลยคืนไปยังพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการเพื่อดำเนินการต่อไป แต่ไม่มีตัวจำเลยส่งคืนมาให้ด้วย กรณีนี้ พนักงานสอบสวนต้องยื่นคำร้องขอผัดฟ้องภายใน ๓๐ วัน นับแต่วันที่เด็กหรือเยาวชนนั้นถูกจับกุม ตามมาตรา ๗๘ วรรคหนึ่ง วิธีการนับระยะเวลาในคดีนี้ จึงเริ่มนับตั้งแต่วันที่เยาวชนถูกจับเป็น ๑ วัน แต่ไม่นับรวมระยะเวลาควบคุมเพื่อตรวจพิสูจน์ไปด้วย ระยะเวลาจึงเหลืออยู่ ๒๙ วัน โดยให้เริ่มนับต่อเนื่องต่อไปในวันที่คณะอนุกรรมการฟื้นฟูฯ ได้มีคำสั่งส่งตัวจำเลยคืนไปยังพนักงานสอบสวน
           -  เมื่อครบกำหนด ๓๐ วัน ดังกล่าวแล้ว พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการแล้วแต่กรณี จะต้องยื่นคำร้องขอผัดฟ้องต่อศาล แม้ว่าไม่มีตัวผู้ต้องหาก็ตาม หากผัดฟ้องจนครบกำหนด ๒ ครั้ง หรือ ๔ ครั้ง ตามมาตรา ๗๘ วรรคสองและวรรคสามแล้วแต่กรณี แล้วยังไม่สามารถติดตามตัวผู้ต้องหามาฟ้องได้ทัน ก็ต้องขาดผัดฟ้องไปตามกฎหมาย กรณีนี้ หากได้ตัวผู้ต้องหามาฟ้องในภายหลัง พนักงานอัยการก็ต้องขออนุญาตอัยการสูงสุดเพื่อฟ้องคดีต่อศาลตามมาตรา ๘๐ (มาตรา ๘๐ "ห้ามมิให้พนักงานอัยการฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาตามมาตรา ๗๘ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากอัยการสูงสุด") ไม่เช่นนั้น จะถือว่าพนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้อง

วันพฤหัสบดีที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

การสอบสวนคดีความรุนแรงในครอบครัว

               ตัวอย่างวิธีการปรับใช้กฎหมายเรื่องการกระทำความรุนแรงในครอบครัว เช่น พนักงานสอบสวนได้รับแจ้งความว่า สามีทำร้ายร่างกายภริยาแต่ไม่ถึงกับได้รับอันตรายสาหัส เกิดขึ้นในเขตพื้นที่รับผิดชอบ ขั้นตอนการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.๒๕๕๐ บัญญัติไว้ดังนี้

               มาตรา ๔   ผู้ใดกระทำการอันเป็นความรุนแรงในครอบครัว ผู้นั้นกระทำความผิดฐาน กระทำความรุนแรงในครอบครัว ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน ๖ เดือน หรือปรับไม่เกิน ๖,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
               ให้ความผิดตามวรรคหนึ่ง เป็นความผิดอันยอมความกันได้ แต่ไม่ลบล้างความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาหรือกฎหมายอื่น หากการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นความผิดฐานทำร้ายร่างกายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙๕ ด้วย ให้ความผิดดังกล่าวเป็นความผิดอันยอมความได้
(หมายเหตุ. - มาตรา ๒๙๕  ผู้ใดทำร้ายผู้อื่น จนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจของผู้อื่นนั้น ผู้นั้นกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ)

               มาตรา ๕  ผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว หรือผู้ที่พบเห็นหรือทราบการกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว มีหน้าที่แจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เพื่อดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้
               การแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามวรรคหนึ่ง เมื่อได้กระทำโดยสุจริต ย่อมได้รับความคุ้มครองและไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา และทางปกครอง

               มาตรา ๗  ถ้ามิได้มีการแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา ๕ หรือมิได้มีการร้องทุกข์ตามมาตรา ๖ ภายในสามเดือนนับแต่ผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวอยู่ในวิสัยและมีโอกาสที่จะแจ้งหรือร้องทุกข์ได้ ให้ถือว่าคดีเป็นอันขาดอายุความ แต่ไม่ตัดสิทธิผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวหรือผู้มีส่วนได้เสียจะร้องขอคุ้มครองสวัสดิภาพตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว

               มาตรา ๘  เมื่อมีการร้องทุกข์ภายในอายุความตามมาตรา ๗ แล้ว ให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนโดยเร็วและส่งตัวผู้กระทำความรุนแรงในครอบครัว สำนวนการสอบสวนพร้อมทั้งความเห็นไปยังพนักงานอัยการเพื่อฟ้องคดีต่อศาลภายในสี่สิบแปดชั่วโมงนับแต่ได้ตัวผู้กระทำความรุนแรงในครอบครัว แต่หากมีเหตุจำเป็นทำให้ไม่อาจยื่นฟ้องได้ทันภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้ขอผัดฟ้องต่อศาลได้คราวละไม่เกินหกวัน แต่ทั้งนี้ ต้องไม่เกินสามคราว โดยให้นำกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับโดยอนุโลม
               ในกรณีที่การกระทำความผิดตามมาตรา ๔ วรรคหนึ่ง เป็นความผิดกรรมเดียวกับความผิดตามกฎหมายอื่น ให้ดำเนินคดีความผิดตามมาตรา ๔ วรรคหนึ่ง ต่อศาล รวมไปกับความผิดตามกฎหมายอื่นนั้น เว้นแต่ความผิดตามกฎหมายอื่นนั้นมีอัตราโทษสูงกว่าให้ดำเนินคดีต่อศาลที่มีอำนาจพิจารณาความผิดตามกฎหมายอื่นนั้น โดยให้นำบทบัญญัติทั้งหลายแห่งพระราชบัญญัตินี้ไปใช้บังคับโดยอนุโลม
               ในการสอบปากคำผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พนักงานสอบสวนต้องจัดให้มีจิตแพทย์ นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ หรือบุคคลที่ผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวร้องขอร่วมอยู่ด้วยในขณะสอบปากคำเพื่อให้คำปรึกษา
               ในกรณีจำเป็นเร่งด่วน ซึ่งมีเหตุอันควรไม่อาจรอจิตแพทย์ นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ หรือบุคคลที่ผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวร้องขอ ให้พนักงานสอบสวนทำการสอบปากคำไปก่อนโดยไม่ต้องมีบุคคลดังกล่าวร่วมอยู่ด้วย แต่ต้องบันทึกเหตุที่ไม่อาจรอบุคคลดังกล่าวไว้ในสำนวนการสอบสวน
               หลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินการของพนักงานสอบสวน ให้เป็นไปตามระเบียบที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด

วันพุธที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

วิธีคุ้มครองสวัสดิภาพผู้ถูกกระทำรุนแรงในครอบครัว (โดยย่อ)

               คดีคุ้มครองสวัสดิภาพ ตามข้อบังคับของประธานศาลฎีกา ว่าด้วยวิธีดำเนินคดีคุ้มครองสวัสดิภาพ พ.ศ.๒๕๕๔ มี ๒ ประเภท คือ
                 ๑.  คดีร้องขอให้ศาลคุ้มครองสวัสดิภาพ ผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว
                 ๒.  คดีร้องขอให้ศาลคุ้มครองสวัสดิภาพ ในกรณีที่มีการปฏิบัติต่อเด็กโดยมิชอบด้วยกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองเด็ก ศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีคุ้มครองสวัสดิภาพ ได้แก่ ศาลเยาวชนและครอบครัวที่ผู้เสียหายมีถิ่นที่อยู่หรือมีภูมิลำเนา หรือศาลที่มูลเหตุของคดีเกิดขึ้น
               ผู้มีสิทธิร้องต่อศาล ในคดีที่ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว ได้แก่
                 ๑.  บุคคลในครอบครัวซึ่งถูกกระทำด้วยความรุนแรงตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว
                 ๒. ผู้กระทำการแทน ในกรณีที่บุคคลในครอบครัวซึ่งถูกกระทำไม่อยู่ในสภาพหรือวิสัยที่จะร้องขอได้เอง ซึ่งได้แก่ ญาติ พนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ พนักงานเจ้าหน้าที่ องค์การซึ่งมีหน้าที่ให้ความช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย หรือองค์การซึ่งมีหน้าที่คุ้มครองสวัสดิภาพเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการหรือทุพพลภาพ ครอบครัว หรือบุคคลอื่นใด เพื่อประโยชน์ของผู้ถูกกระทำ
               ผู้มีสิทธิร้องต่อศาล คดีที่มีการปฏิบัติต่อเด็กโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ได้แก่
                 ๑. เด็กหรือผู้ปกครองของเด็ก บิดามารดา ผู้อนุบาล ผู้รับบุตรบุญธรรม และผู้ปกครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และให้หมายความรวมถึงพ่อเลี้ยงแม่เลี้ยง ผู้ปกครองสวัสดิภาพ นายจ้าง ตลอดจนบุคคลอื่นซึ่งรับเด็กไว้ในความอุปการะเลี้ยงดูหรือซึ่งเด็กอาศัยอยู่ด้วย
                 ๒. ผู้กระทำการแทน ในกรณีที่เด็กซึ่งถูกกระทำหรือผู้ปกครองไม่อยู่ในสภาพหรือวิสัยที่จะร้องขอได้เอง ซึ่งได้แก่ ญาติ พนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ พนักงานเจ้าหน้าที่ องค์การซึ่งมีหน้าที่ให้ความช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย หรือองค์การซึ่งมีหน้าที่คุ้มครองสวัสดิภาพเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการหรือทุพพลภาพ ครอบครัว หรือบุคคลอื่นใด เพื่อประโยชน์ของผู้ถูกกระทำ
               ผู้ร้อง อาจยื่นคำร้องขอเป็นหนังสือตามแบบพิมพ์ คส. ๑ หรือมาแถลงด้วยวาจา เพื่อให้ศาลบันทึกไว้ตามแบบพิมพ์ คส. ๒ ก็ได้ ผู้ร้องจะยื่นบัญชีระบุพยานพร้อมกับยื่นคำร้องขอ หรือจะแถลงให้ศาลบันทึกว่าจะสืบพยานหลักฐานใดบ้างก็ได้
               ในกรณีมีเหตุฉุกเฉิน ผู้ร้องจะยื่นคำร้องขอคุ้มครองสวัสดิภาพในเหตุฉุกเฉินรวมไปด้วยกับคำร้องขอคุ้มครองสวัสดิภาพ เพื่อให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองสวัสดิภาพโดยมิชักช้า หรือจะยื่นในเวลาใด ๆ ระหว่างไต่สวนก็ได้ ตามแบบพิมพ์ คส. ๓ ที่กำหนดไว้ท้ายข้อบังคับนี้
               หากมีเหตุจำเป็นเร่งด่วน ไม่สามารถจัดทำคำร้องขอคุ้มครองสวัสดิภาพในเหตุฉุกเฉินได้ทัน ผู้ร้องจะแถลงด้วยวาจาต่อศาล ก็ให้ศาลจดข้อความและให้ลงชื่อไว้แล้วรีบไต่สวนและมีคำสั่งในทันที
               ผู้ถูกกล่าวหา อาจยื่นคำให้การเป็นหนังสือ หรือมาแถลงด้วยวาจา เพื่อให้ศาลจดบันทึกไว้ก็ได้ ผู้ถูกกล่าวหาจะยื่นบัญชีระบุพยานพร้อมกับการยื่นคำให้การ หรือจะแถลงให้ศาลบันทึกว่า จะสืบพยานหลักฐานใดบ้างก็ได้
               หากข้อเท็จจริงตามทางไต่สวนฟังได้ตามที่ผู้ร้องกล่าวอ้าง และมีพฤติการณ์อันน่าจะก่อให้เกิดอันตรายแก่ร่างกาย จิตใจ หรือสุขภาพของผู้เสียหาย และคำขอให้ศาลสั่งคุ้มครองสวัสดิภาพอยู่ภายใต้วิธีการและมาตรการที่กฎหมายกำหนด ก็ให้ศาลสั่งคุ้มครองสวัสดิภาพตามคำร้องขอหรือตามสมควรแก่กรณี โดยคำนึงถึงการรักษาความสัมพันธ์อันดีในครอบครัวหรือประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสำคัญ ทั้งนี้ ให้มีกำหนดเวลาไม่เกินหกเดือน
               กรณีขอให้มีการคุ้มครองเด็กที่มีการปฏิบัติโดยมิชอบด้วยกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองเด็ก
ศาลอาจมีคำสั่งให้ผู้ปกครองต้องปฏิบัติ หรือห้ามมิให้ผู้ใดกระทำการตามบทบัญญัติเกี่ยวกับการปฏิบัติต่อเด็กตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองเด็กด้วยก็ได้
               เมื่อศาลเห็นสมควร ศาลอาจสั่งให้ผู้ร้องซึ่งมีส่วนก่อให้เกิดความรุนแรงในครอบครัว เข้ารับคำปรึกษาแนะนำ หรือเข้ารับการอบรม หรือบำบัดรักษาหรือฟื้นฟู ตามระยะเวลาที่กำหนด คำสั่งคุ้มครองสวัสดิภาพเมื่อมีการปฏิบัติครบถ้วนแล้วก็เป็นอันสิ้นสุด และก่อนมีการปฏิบัติครบถ้วน ผู้ถูกกล่าวหาหรือผู้ร้องมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งยุติได้
              ให้แจ้งคำสั่ง ไปยังเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจที่ผู้ถูกกล่าวหามีถิ่นที่อยู่หรือภูมิลำเนาในเขตอำนาจเพื่อทราบตามแบบพิมพ์ คส. ๖ ที่กำหนดไว้ท้ายข้อบังคับนี้ ในกรณีศาลมีคำสั่งให้นักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยา พนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวหรือกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองเด็ก หรือเจ้าพนักงานอื่นติดตามกำกับให้ผู้ถูกกล่าวหาปฏิบัติตามคำสั่งศาลและกำหนดระยะเวลารายงานให้ศาลทราบ ให้ศาลมีหนังสือแจ้งคำสั่งให้บุคคลดังกล่าวทราบโดยใช้แบบพิมพ์ คส. ๗ ที่กำหนดไว้ท้ายข้อบังคับนี้       
บทความที่เกี่ยวข้อง
ความหมายความรุนแรงในครอบครัว     
การสอบสวนคดีความรุนแรงในครอบครัว   

วันเสาร์ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

กำชับการสอบสวนผู้ต้องหาที่เป็นเด็กหรือเยาวชน

               ในการทำสำนวนการสอบสวนคดีที่ผู้ต้องหาเป็นเด็กหรือเยาวชน ให้เป็นไปด้วยความถูกต้อง รวดเร็ว ที่พนักงานอัยการสามารถฟ้องผู้ต้องหาต่อศาลได้ พนักงานสอบสวนควรดำเนินการให้ครบถ้วน ดังต่อไปนี้
               ๑.  แจ้งการดำเนินคดีกับผู้ต้องหาไปยังสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดฯ และติดตามรายงานการสืบเสาะฯ มารวมไว้ในสำนวนด้วย
               ๒.  ให้จัดทำบันทึกการถามปากคำเบื้องต้น ตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.๒๕๕๓ มาตรา ๗๐ ด้วย (ยังไม่มีแบบฟอร์มที่เป็นมาตรฐาน)
                    "มาตรา ๗๐  เมื่อพนักงานสอบสวนได้รับตัวเด็กหรือเยาวชนซึ่งถูกจับ หรือเด็กหรือเยาวชนซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดถูกเรียกมา ส่งตัวมา เข้าหาพนักงานสอบสวนเอง มาปรากฏตัวอยู่ต่อหน้าพนักงานสอบสวน หรือมีผู้นำตัวเด็กหรือเยาวชนนั้นเข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวน และคดีนั้นเป็นคดีที่ต้องพิจารณาพิพากษาในศาลเยาวชนและครอบครัว ให้พนักงานสอบสวนรีบสอบถามเด็กหรือเยาวชนในเบื้องต้นเพื่อทราบชื่อตัว ชื่อสกุล อายุ สัญชาติ ถิ่นที่อยู่ สถานที่เกิดและอาชีพของเด็กหรือเยาวชน ตลอดจนชื่อตัว ชื่อสกุล และรายละเอียดเกี่ยวกับบิดา มารดา ผู้ปกครอง บุคคลหรือองค์การซึ่งเด็กหรือเยาวชนอาศัยอยู่ด้วย แล้วแจ้งข้อกล่าวหาให้บุคคลดังกล่าวทราบ และแจ้งให้ผู้อำนวยการสถานพินิจที่เด็กหรือเยาวชนนั้นอยู่ในเขตอำนาจ เพื่อดำเนินการตามมาตรา ๘๒
                      การสอบถามเบื้องต้นตามวรรคหนึ่ง ให้กระทำในสถานที่ที่เหมาะสม โดยไม่เลือกปฏิบัติและไม่ปะปนกับผู้ต้องหาอื่นหรือมีบุคคลอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องอยู่ในสถานที่นั้นอันมีลักษณะเป็นการประจานเด็กหรือเยาวชน ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงอายุ เพศ สภาวะของเด็กหรือเยาวชนเป็นสำคัญ และต้องใช้ภาษาหรือถ้อยคำที่ทำให้เด็กหรือเยาวชนสามารถเข้าใจได้โดยง่าย โดยคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ถ้าเด็กหรือเยาวชนไม่สามารถสื่อสารหรือไม่เข้าใจภาษาไทยก็ให้จัดหาล่ามให้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา หรือจัดหาเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกหรือความช่วยเหลืออื่นใดให้ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ หากเด็กหรือเยาวชนประสงค์จะติดต่อสื่อสารหรือปรึกษาหารือกับบิดา มารดา ผู้ปกครอง บุคคลหรือผู้แทนองค์การซึ่งเด็กหรือเยาวชนอาศัยอยู่ด้วยและอยู่ในวิสัยที่จะดำเนินการได้ ให้พนักงานสอบสวนดำเนินการให้ตามควรแก่กรณีโดยไม่ชักช้า"
               ๓.  ในการถามปากคำเด็กและเยาวชนที่ต้องหาว่ากระทำผิด ขอให้มีที่ปรึกษากฎหมายอยู่ด้วยทุกครั้ง ตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.๒๕๕๓ มาตรา ๗๕ วรรคสอง
                    "มาตรา ๗๕  ในการสอบสวน ให้กระทำในสถานที่ที่เหมาะสมโดยไม่เลือกปฏิบัติและไม่ปะปนกับผู้ต้องหาอื่นหรือมีบุคคลอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องอยู่ในสถานที่นั้นอันมีลักษณะเป็นการประจานเด็กหรือเยาวชน ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงอายุ เพศ สภาวะของเด็กหรือเยาวชนเป็นสำคัญ และต้องใช้ภาษาและถ้อยคำที่ทำให้เด็กหรือเยาวชนสามารถเข้าใจได้ง่าย โดยคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ถ้าเด็กหรือเยาวชนไม่สามารถสื่อสารหรือไม่เข้าใจภาษาไทยให้จัดหาล่ามให้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาหรือจัดหาเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกหรือความช่วยเหลืออื่นใดให้ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
                    ในการแจ้งข้อกล่าวหาและสอบปากคำเด็กหรือเยาวชนซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดจะต้องมีที่ปรึกษากฎหมายของเด็กหรือเยาวชนร่วมอยู่ด้วยทุกครั้ง พร้อมทั้งแจ้งด้วยว่าเด็กหรือเยาวชนมีสิทธิที่จะไม่ให้การหรือให้การก็ได้ และถ้อยคำของเด็กหรือเยาวชนอาจใช้เป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาคดีได้ ทั้งนี้ เมื่อคำนึงถึงอายุ เพศ และสภาพจิตของเด็กหรือเยาวชนซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดแต่ละราย
                      ในการแจ้งข้อหาและการสอบปากคำเด็กหรือเยาวชนตามวรรคสอง บิดา มารดา ผู้ปกครอง บุคคลหรือผู้แทนองค์การซึ่งเด็กหรือเยาวชนอาศัยอยู่ด้วยจะเข้าร่วมรับฟังการสอบสวนดังกล่าวด้วยก็ได้"

วันพุธที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2558

ความหมาย:ความรุนแรงในครอบครัว

พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.. ๒๕๕๐

                มาตรา ๓  ในพระราชบัญญัตินี้
                “ความรุนแรงในครอบครัว หมายความว่า การกระทำใด ๆ โดยมุ่งประสงค์ให้เกิดอันตรายแก่ร่างกาย จิตใจ หรือสุขภาพ หรือกระทำโดยเจตนาในลักษณะที่น่าจะก่อให้เกิดอันตรายแก่ร่างกาย จิตใจ หรือสุขภาพของบุคคลในครอบครัว หรือบังคับหรือใช้อำนาจครอบงำผิดคลองธรรมให้บุคคลในครอบครัวต้องกระทำการ ไม่กระทำการ หรือยอมรับการกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดโดยมิชอบ แต่ไม่รวมถึงการกระทำโดยประมาท 

                คู่มือการปฏิบัติงานของหน่วยงานในการช่วยเหลือคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว โดย กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้อธิบายความหมายหรือลักษณะของ ความรุนแรงในครอบครัว เป็น ๓ ลักษณะ ดังนี้
                ๑. การกระทำใดๆ โดยมุ่งประสงค์ให้เกิดอันตรายแก่ร่างกาย จิตใจ หรือสุขภาพของบุคคลในครอบครัว
                    กล่าวคือ ผู้กระทำกระทำการใด ๆ โดยมีเจตนาเพื่อให้เกิดอันตรายแก่ร่างกาย จิตใจ หรือสุขภาพของบุคคลในครอบครัว ก็ถือเป็นการกระทำ ความรุนแรงในครอบครัว ไม่ว่าการกระทำนั้นจะก่อให้เกิดผลบาดเจ็บสาหัส บาดเจ็บธรรมดา หรือไม่ถึงกับเป็นอันตรายใด ๆ เลยก็ตาม เช่น ขว้างมีดใส่แต่เฉียดไป ดังนั้น จะต้องพิจารณาจากเจตนาที่มุ่งประสงค์เป็นสำคัญ ว่าเจตนาที่มุ่งประสงค์ต่อการกระทำนั้นถึงขนาดที่จะก่อให้เกิดอันตรายแก่ร่างกาย จิตใจ หรือสุขภาพด้วยหรือไม่
                   “อันตรายต่อร่างกาย หมายถึง การทำให้ได้รับความบาดเจ็บแก่ร่างกาย ไม่ว่าจะโดยใช้กำลังทำร้ายหรือไม่ และไม่จำต้องถูกเนื้อต้องตัว เช่น หลอกให้เขาเดินตกหลุมที่ขุดดักเอาไว้จนได้รับบาดเจ็บ ทำให้เขาตกใจจนกระโดดหนีจากบ้านล้มลงถึงขาหักย่อมเป็นอันตรายแก่ร่างกายทั้งสิ้น บาดแผลที่เกิดจากการถูกกระทำไม่จำเป็นต้องมีแผลโลหิตไหลภายนอก อาจเป็นแผลเลือดไหลอยู่ภายในก็ได้ ๔ ซึ่งพิจารณาได้ว่า การกระทำอันตรายต่อร่างกาย เป็นการกระทำที่มุ่งประสงค์ให้เกิดเป็นอันตรายต่อร่างกายของผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวหรือไม่ ซึ่งบางกรณีอาจต้องใช้หลักเกณฑ์การวินิจฉัยทางการแพทย์ เช่น สามีตบตีทำร้ายร่างกายภรรยา เกิดผลบาดเจ็บต่ออวัยวะภายในของภรรยา เป็นต้น
                  “อันตรายต่อจิตใจ หากพิจารณาความหมายในประมวลกฎหมายอาญา ประกอบกับคำพิพากษาศาลฎีกา การกระทำใดจะถือเป็นอันตรายต่อจิตใจต้องเป็นกรณีที่การกระทำนั้นถึงขนาดที่ทำให้เกิดผลกระทบกระเทือนต่อจิตใจ สภาพจิตผิดปกติ เช่น สลบ หมดสติ มึนงง จิตฟั่นเฟือน ตกใจกลัวถึงขนาดประสาทเสีย หรือวิตกกังวลจนประสาทเสีย ซึ่งอาจต้องพิสูจน์ได้ในทางการแพทย์ หรือจิตเวช ส่วนการทำให้โกรธ ทำให้กลัว ทำให้เสียความรู้สึก น้อยใจ เจ็บใจ แค้นใจ ถูกเหยียดหยามหรือการทำให้เสียใจโดยทั่วไป เป็นเพียงอารมณ์ซึ่งเป็นอาการอันเกิดจากจิตใจไม่ใช่เป็นอันตรายที่เกิดกับจิตใจโดยแท้ เช่น การที่สามีไปมีภรรยาน้อย ทำให้ภรรยาหลวงเสียใจ ดังนี้ ย่อมไม่เป็นการกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว เพราะเป็นอารมณ์ไม่ใช่เป็นอันตรายแก่จิตใจ แต่เป็นความรู้สึกที่เรียกว่า จิต นี้ ไม่มีตัวตนจึงถูกทำร้ายไม่ได้ เป็นเพียงการเปรียบเทียบเท่านั้น แท้จริงร่างกายส่วนที่รับรู้ในสิ่งเหล่านี้คือ สมอง ดังนั้น การทำร้ายจิตใจตามกฎหมายจึงได้แก่ การทำร้ายจนสมองเสียหาย หากเนื้อสมองหลุดหาย ก็เป็นส่วนของร่างกาย จึงเป็นการทำอันตรายแก่ร่างกายได้ แต่ถ้าหากเนื้อสมองไม่เสียหายแต่ทำให้สมองหยุดสั่งการหรือสั่งการอย่างผิดๆ ถึงขั้นที่เรียกได้ว่าเป็นอันตรายต่อจิตใจ ซึ่งบางกรณีอาจต้องพิสูจน์ได้ในทางการแพทย์หรือจิตเวช ดังนั้น คำว่า จิตใจ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.. ๒๕๕๐ ไม่ใช่ความรู้สึกหรืออารมณ์ การทำร้ายจิตใจจึงมิใช่ทำให้เกิดความรู้สึกที่ไม่ดีมากระทบจิตใจ เช่น เสียใจ เจ็บใจ แค้นใจ
                  ตัวอย่างกรณีไม่เป็นอันตรายแก่จิตใจ เช่น สามีจดทะเบียนโอนที่ดินให้กับภรรยาน้อย เมื่อภรรยาหลวงทราบ ทำให้ภรรยาหลวงคับแค้นใจเป็นอย่างมาก กรณีเช่นนี้ไม่เป็นอันตรายแก่จิตใจ
                  ตัวอย่างกรณีเป็นอันตรายแก่จิตใจ เช่น
                  • สามีรู้ว่าภรรยากลัวผีเป็นอย่างมาก จึงแกล้งทำเป็นผีหลอกทำให้ภรรยาตกใจกลัวจนประสาทเสีย หรือ
                  • สามีใส่ยากล่อมประสาทในอาหารให้ภรรยากิน เมื่อภรรยากินสะสมระยะเวลาหนึ่ง ทำให้ภรรยาไม่ได้สติ มีอาการคล้ายคนบ้า หรือสามีให้ภรรยากินยาระงับประสาท หรือยาทำให้ภรรยามึนเมาไม่ได้สติ หรือ 
                  • สามีรู้ว่าภรรยากลัวห้องมืดและแคบ สามีจึงจับภรรยามาขังในห้องมืด ทำให้ภรรยากลัวจนหมดสติ
                “อันตรายต่อสุขภาพ หมายถึง การกระทำนั้นทำให้เสียสุขภาพ หรือเกิดอาการเจ็บป่วยทางร่างกายหรือสุขภาพกาย แต่ไม่รวมสุขภาพจิต ซึ่งจำต้องอาศัยการวินิจฉัยทางการแพทย์เช่นเดียวกัน เช่น การแอบใส่ยาลดน้ำหนักให้ภรรยากินเพื่อให้ลดน้ำหนักอย่างรวดเร็ว หรือสามีรู้ว่าภรรยาแพ้ขนแมว แต่กลับนำแมว ๒๕ ตัว มาเลี้ยง เพื่อให้อาการกำเริบ การกระทำดังกล่าวเหล่านี้ถือเป็นอันตรายต่อสุขภาพ
                 ๒. กระทำโดยเจตนาในลักษณะที่น่าจะก่อให้เกิดอันตรายแก่ร่างกาย จิตใจ หรือสุขภาพของบุคคลในครอบครัวกล่าวคือ ผู้กระทำ กระทำการใดๆ โดยเจตนาซึ่งการกระทำดังกล่าวมีลักษณะที่วิญญูชนพิจารณาแล้วเห็นว่า น่าจะก่อให้เกิดอันตราย แก่ร่างกาย จิตใจ หรือสุขภาพของบุคคลในครอบครัว แม้ผู้กระทำจะไม่รู้ว่าการกระทำดังกล่าวน่าจะก่อให้เกิดอันตรายแก่ร่างกาย จิตใจ หรือสุขภาพของบุคคลในครอบครัว เช่น สามีอารมณ์ฉุนเฉียวขว้างปาสิ่งของในบ้าน หรือสามีหลอกภรรยาให้ตกใจกลัวว่าจะมีคนมาลอบทำร้ายร่างกาย หรือสามีขับรถน่าหวาดเสียวเพื่อขู่ให้ภรรยาเกิดความกลัว หรือบิดาลงโทษบุตรที่ติดเล่นเกมส์ออนไลน์ด้วยการให้บุตรอดอาหาร ๑ วัน กรณีเช่นนี้ถือเป็นการกระทำในลักษณะที่น่าจะก่อให้เกิดอันตรายแก่ร่างกายหรือจิตใจแล้ว เพราะการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดที่ไม่ต้องการผล แค่น่าจะเกิดผล ก็ถือเป็นความรุนแรงในครอบครัวแล้ว โดยผู้กระทำต้องมีเจตนาในลักษณะที่น่าจะก่อให้เกิดอันตรายแก่ร่างกาย จิตใจ หรือสุขภาพของบุคคลในครอบครัว

วันเสาร์ที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 819/2546
ป.พ.พ. มาตรา 1520
             เมื่อโจทก์คลอดบุตรผู้เยาว์แล้วได้เลี้ยงดูด้วยตนเองตลอดมา ต่อมา โจทก์ไม่อาจทนอยู่กับจำเลยที่บ้านจำเลยได้ ต้องกลับไปอยู่บ้านบิดามารดาโจทก์ โจทก์ก็นำบุตรผู้เยาว์ไปเลี้ยงดูด้วย แม้บิดาจำเลยไปหลอกนำบุตรผู้เยาว์กลับมาที่บ้านจำเลย โจทก์เพียรพยายามขอพบบุตรผู้เยาว์ แต่ถูกกีดกันไม่ให้พบ โจทก์ยังคงห่วงใยและมีความรักบุตรผู้เยาว์แม้ถูกฝ่ายจำเลยพรากไป
             ทั้งโจทก์มีรายได้สามารถอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ได้ด้วยตนเองโดยปราศจากความช่วยเหลือของจำเลย ส่วนจำเลยเมื่อบิดาจำเลยนำบุตรผู้เยาว์กลับมา จำเลยและบิดามารดาจำเลยไม่อาจเลี้ยงดูได้ เพราะต้องไปทำงานทุกคน ต้องให้ญาติฝ่ายบิดาจำเลยเลี้ยงบุตรผู้เยาว์ตลอดมาจนถึงวัยเรียน และจำเลยมีรายได้น้อย ยังต้องพึ่งพาบิดามารดาจำเลยอยู่ ไม่อาจเลี้ยงดูบุตรภริยาได้ โจทก์จึงสมควรเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์แต่เพียงผู้เดียว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 448/2546
ป.พ.พ. มาตรา 1520, 1521
             บันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนหย่า ไม่มีข้อความใดระบุให้จำเลยต้องนำบุตรทั้งสองมาอยู่บ้านของจำเลยที่จังหวัดสมุทรปราการ คงระบุเพียงว่าให้บุตรทั้งสองอยู่ในอำนาจปกครองของจำเลยซึ่งเป็นบิดาเท่านั้น จำเลยซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองย่อมมีสิทธิกำหนดที่อยู่ของบุตรทั้งสองได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1567 (1) การที่จำเลยยังคงให้มารดาของตนเลี้ยงดูบุตรทั้งสองต่อมาภายหลังการหย่า โดยจำเลยไปเยี่ยมเยียนพร้อมทั้งส่งเงินค่าเลี้ยงดูให้ตลอดมา ย่อมเป็นการใช้อำนาจปกครองอันเหมาะสมและสอดคล้องกับพฤติการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะที่มีการหย่า
             เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า ต่อมา โจทก์หายจากโรคเครียดเป็นปกติ และทำงานเป็นเสมียนทนายความมีเงินเดือน ๆ ละ 12,000 บาท โจทก์ได้รับบุตรทั้งสองมาเลี้ยงดูตั้งแต่ปี 2540 จนถึงวันฟ้อง โดยให้บุตรทั้งสองศึกษาเล่าเรียนที่โรงเรียนในจังหวัดสมุทรปราการ และจำเลยได้เคยไปเยี่ยมบุตรทั้งสองที่โรงเรียนด้วย หากจำเลยนำบุตรทั้งสองกลับไปให้มารดาของจำเลยเลี้ยงดูที่จังหวัดนครสวรรค์ อีกครั้ง ก็อาจเป็นการกระทบกระเทือนต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของบุตรทั้งสอง ซึ่งโจทก์เป็นผู้เลี้ยงดูอย่างเป็นปกติสุขตลอดระยะเวลา 5 ปี ที่ผ่านมา
             เมื่อคำนึงถึงความผาสุกและประโยชน์ของบุตรทั้งสอง ประกอบกับพฤติการณ์ที่ได้เปลี่ยนแปลงไปดังกล่าวแล้ว จึงมีเหตุสมควรเปลี่ยนตัวผู้ใช้อำนาจปกครองจากจำเลยซึ่งเป็นบิดา มาเป็นโจทก์ซึ่งเป็นมารดา ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1520 และ 1521 โดยให้จำเลยมีสิทธิติดต่อเยี่ยมเยียนบุตรทั้งสองได้ตามควรแก่พฤติการณ์ตามมาตรา 1584/1

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2971/2544
ป.พ.พ. มาตรา 1522, 1566
             บันทึกข้อตกลงหลังทะเบียนการหย่า มิได้กล่าวว่าให้อำนาจปกครองบุตรอยู่กับโจทก์หรือจำเลย กรณีต้องถือว่าโจทก์จำเลยต่างเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรร่วมกันตามมาตรา 1566 วรรคหนึ่ง ส่วนมาตรา 1522 วรรคหนึ่ง นั้น มีความหมายเพียงว่า ในการหย่าโดยความยินยอม สามีและภริยาอาจตกลงกันในบันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนการหย่าว่าฝ่ายใดจะเป็นผู้ออกเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรเป็นจำนวนเท่าใด หากมิได้กำหนด ศาลก็ย่อมเป็นผู้กำหนดจำนวนเงินให้ได้ตามสมควรตามมาตรา 1522 วรรคสอง
            เมื่อข้อความตามบันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนหย่า ไม่ใช่ข้อตกลงเรื่องออกเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรเป็นจำนวนเท่าใด ดังนั้น ศาลจึงมีอำนาจกำหนดให้จำเลยออกค่าอุปการะเลี้ยงดูได้ และหลังจดทะเบียนหย่าในปี 2537 จำเลยมิได้ให้ค่าอุปการะเลี้ยงดูผู้เยาว์ โจทก์จึงเรียกให้จำเลยรับผิดจ่ายเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรย้อนหลังตั้งแต่ปี 2537 จนถึงวันฟ้องได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2563/2544
ป.พ.พ. มาตรา 1582, 1585, 1520
             ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1585 วรรคหนึ่ง ให้ตั้งผู้ปกครองผู้เยาว์ได้เฉพาะกรณีผู้เยาว์ไม่มีบิดามารดาหรือบิดามารดาถูกถอนอำนาจปกครอง การที่มารดาตาย ส่วนบิดายังมีชีวิตอยู่และมิได้ถูกถอนอำนาจปกครอง แม้บิดามารดาจะจดทะเบียนหย่าโดยตกลงให้มารดาเป็นผู้ปกครองผู้เยาว์แต่ฝ่ายเดียว ก็เป็นเรื่องการตกลงตามมาตรา 1520 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 1566 วรรคสอง (6) เท่านั้น มิใช่เป็นกรณีที่บิดาถูกถอนอำนาจปกครองเพราะการจะถอนอำนาจปกครองจะต้องมีเหตุตามมาตรา 1582 และเป็นอำนาจของศาล ดังนั้น อำนาจปกครองจึงกลับมาอยู่แก่บิดาฝ่ายเดียวตามมาตรา 1566 วรรคสอง (1) เมื่อผู้เยาว์ยังมีบิดาซึ่งยังไม่ถูกถอนอำนาจปกครองจึงไม่อาจตั้งผู้ปกครองได้ ผู้ร้องซึ่งเป็นน้าผู้เยาว์จึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ตั้งผู้ปกครอง
            ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1582 ให้อำนาจศาลถอนอำนาจปกครองได้โดยลำพัง ไม่ต้องให้ผู้ใดร้องขอก็ได้ หากมีเหตุตามบทบัญญัติดังกล่าว แม้ผู้ร้องไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอถอนอำนาจปกครองของบิดาผู้เยาว์ แต่เมื่อความปรากฏต่อศาลว่า ที่บิดาของผู้เยาว์ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำเกี่ยวกับการจำหน่ายยาเสพติดและไม่ได้อุปการะเลี้ยงดูผู้เยาว์ โดยให้อยู่ในความดูแลของผู้ร้อง ถือได้ว่า บิดาประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงและใช้อำนาจปกครองแก่ตัวผู้เยาว์โดยมิชอบ ศาลจึงมีอำนาจพิพากษาให้ถอนอำนาจปกครองบิดาผู้เยาว์ และเมื่อผู้เยาว์ไม่มีผู้ใช้อำนาจปกครองเนื่องจากมารดาตายและบิดาถูกถอนอำนาจปกครอง ประกอบกับผู้เยาว์อยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของผู้ร้องตลอดมา ทั้งบิดายินยอมให้ผู้ร้องเป็นผู้ปกครอง ศาลจึงตั้งผู้ร้องเป็นผู้ปกครองผู้เยาว์