คดีคุ้มครองสวัสดิภาพ
ตามข้อบังคับของประธานศาลฎีกา ว่าด้วยวิธีดำเนินคดีคุ้มครองสวัสดิภาพ พ.ศ.๒๕๕๔ มี ๒
ประเภท คือ
๑. คดีร้องขอให้ศาลคุ้มครองสวัสดิภาพ
ผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว
๒. คดีร้องขอให้ศาลคุ้มครองสวัสดิภาพ ในกรณีที่มีการปฏิบัติต่อเด็กโดยมิชอบด้วยกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองเด็ก ศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีคุ้มครองสวัสดิภาพ
ได้แก่ ศาลเยาวชนและครอบครัวที่ผู้เสียหายมีถิ่นที่อยู่หรือมีภูมิลำเนา
หรือศาลที่มูลเหตุของคดีเกิดขึ้น
ผู้มีสิทธิร้องต่อศาล
ในคดีที่ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว ได้แก่
๑. บุคคลในครอบครัวซึ่งถูกกระทำด้วยความรุนแรงตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว
๒. ผู้กระทำการแทน
ในกรณีที่บุคคลในครอบครัวซึ่งถูกกระทำไม่อยู่ในสภาพหรือวิสัยที่จะร้องขอได้เอง ซึ่งได้แก่
ญาติ พนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ พนักงานเจ้าหน้าที่ องค์การซึ่งมีหน้าที่ให้ความช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย
หรือองค์การซึ่งมีหน้าที่คุ้มครองสวัสดิภาพเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการหรือทุพพลภาพ
ครอบครัว หรือบุคคลอื่นใด เพื่อประโยชน์ของผู้ถูกกระทำ
ผู้มีสิทธิร้องต่อศาล คดีที่มีการปฏิบัติต่อเด็กโดยมิชอบด้วยกฎหมาย
ได้แก่
๑. เด็กหรือผู้ปกครองของเด็ก บิดามารดา ผู้อนุบาล
ผู้รับบุตรบุญธรรม และผู้ปกครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และให้หมายความรวมถึงพ่อเลี้ยงแม่เลี้ยง
ผู้ปกครองสวัสดิภาพ นายจ้าง ตลอดจนบุคคลอื่นซึ่งรับเด็กไว้ในความอุปการะเลี้ยงดูหรือซึ่งเด็กอาศัยอยู่ด้วย
๒. ผู้กระทำการแทน
ในกรณีที่เด็กซึ่งถูกกระทำหรือผู้ปกครองไม่อยู่ในสภาพหรือวิสัยที่จะร้องขอได้เอง ซึ่งได้แก่
ญาติ พนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ พนักงานเจ้าหน้าที่ องค์การซึ่งมีหน้าที่ให้ความช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย
หรือองค์การซึ่งมีหน้าที่คุ้มครองสวัสดิภาพเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการหรือทุพพลภาพ
ครอบครัว หรือบุคคลอื่นใด เพื่อประโยชน์ของผู้ถูกกระทำ
ผู้ร้อง อาจยื่นคำร้องขอเป็นหนังสือตามแบบพิมพ์
คส. ๑ หรือมาแถลงด้วยวาจา เพื่อให้ศาลบันทึกไว้ตามแบบพิมพ์
คส. ๒ ก็ได้ ผู้ร้องจะยื่นบัญชีระบุพยานพร้อมกับยื่นคำร้องขอ
หรือจะแถลงให้ศาลบันทึกว่าจะสืบพยานหลักฐานใดบ้างก็ได้
ในกรณีมีเหตุฉุกเฉิน
ผู้ร้องจะยื่นคำร้องขอคุ้มครองสวัสดิภาพในเหตุฉุกเฉินรวมไปด้วยกับคำร้องขอคุ้มครองสวัสดิภาพ
เพื่อให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองสวัสดิภาพโดยมิชักช้า หรือจะยื่นในเวลาใด ๆ ระหว่างไต่สวนก็ได้ ตามแบบพิมพ์
คส. ๓ ที่กำหนดไว้ท้ายข้อบังคับนี้
หากมีเหตุจำเป็นเร่งด่วน
ไม่สามารถจัดทำคำร้องขอคุ้มครองสวัสดิภาพในเหตุฉุกเฉินได้ทัน ผู้ร้องจะแถลงด้วยวาจาต่อศาล
ก็ให้ศาลจดข้อความและให้ลงชื่อไว้แล้วรีบไต่สวนและมีคำสั่งในทันที
ผู้ถูกกล่าวหา อาจยื่นคำให้การเป็นหนังสือ
หรือมาแถลงด้วยวาจา เพื่อให้ศาลจดบันทึกไว้ก็ได้ ผู้ถูกกล่าวหาจะยื่นบัญชีระบุพยานพร้อมกับการยื่นคำให้การ
หรือจะแถลงให้ศาลบันทึกว่า จะสืบพยานหลักฐานใดบ้างก็ได้
หากข้อเท็จจริงตามทางไต่สวนฟังได้ตามที่ผู้ร้องกล่าวอ้าง
และมีพฤติการณ์อันน่าจะก่อให้เกิดอันตรายแก่ร่างกาย จิตใจ หรือสุขภาพของผู้เสียหาย
และคำขอให้ศาลสั่งคุ้มครองสวัสดิภาพอยู่ภายใต้วิธีการและมาตรการที่กฎหมายกำหนด ก็ให้ศาลสั่งคุ้มครองสวัสดิภาพตามคำร้องขอหรือตามสมควรแก่กรณี
โดยคำนึงถึงการรักษาความสัมพันธ์อันดีในครอบครัวหรือประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสำคัญ
ทั้งนี้ ให้มีกำหนดเวลาไม่เกินหกเดือน
กรณีขอให้มีการคุ้มครองเด็กที่มีการปฏิบัติโดยมิชอบด้วยกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองเด็ก
ศาลอาจมีคำสั่งให้ผู้ปกครองต้องปฏิบัติ
หรือห้ามมิให้ผู้ใดกระทำการตามบทบัญญัติเกี่ยวกับการปฏิบัติต่อเด็กตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองเด็กด้วยก็ได้
เมื่อศาลเห็นสมควร ศาลอาจสั่งให้ผู้ร้องซึ่งมีส่วนก่อให้เกิดความรุนแรงในครอบครัว
เข้ารับคำปรึกษาแนะนำ หรือเข้ารับการอบรม หรือบำบัดรักษาหรือฟื้นฟู ตามระยะเวลาที่กำหนด
คำสั่งคุ้มครองสวัสดิภาพเมื่อมีการปฏิบัติครบถ้วนแล้วก็เป็นอันสิ้นสุด และก่อนมีการปฏิบัติครบถ้วน
ผู้ถูกกล่าวหาหรือผู้ร้องมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งยุติได้
ให้แจ้งคำสั่ง ไปยังเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจที่ผู้ถูกกล่าวหามีถิ่นที่อยู่หรือภูมิลำเนาในเขตอำนาจเพื่อทราบตามแบบพิมพ์
คส. ๖ ที่กำหนดไว้ท้ายข้อบังคับนี้ ในกรณีศาลมีคำสั่งให้นักสังคมสงเคราะห์
นักจิตวิทยา พนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวหรือกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองเด็ก
หรือเจ้าพนักงานอื่นติดตามกำกับให้ผู้ถูกกล่าวหาปฏิบัติตามคำสั่งศาลและกำหนดระยะเวลารายงานให้ศาลทราบ
ให้ศาลมีหนังสือแจ้งคำสั่งให้บุคคลดังกล่าวทราบโดยใช้แบบพิมพ์ คส. ๗ ที่กำหนดไว้ท้ายข้อบังคับนี้ บทความที่เกี่ยวข้อง
ความหมายความรุนแรงในครอบครัว
การสอบสวนคดีความรุนแรงในครอบครัว