วันพฤหัสบดีที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

การถามปากคำเด็ก ตามมาตรา ๑๓๓ ทวิ

               มาตรา ๑๓๓ ทวิ  การถามปากคำผู้เสียหายหรือพยานที่เป็นเด็กอายุไม่เกินสิบแปดปี ในคดีดังต่อไปนี้
                     ๑. ความผิดเกี่ยวกับเพศ
                     ๒. ความผิดเกี่ยวกับชีวิตและร่างกายอันมิใช่ความผิดที่เกิดจากการชุลมุนต่อสู้
                     ๓. ความผิดเกี่ยวกับเสรีภาพ
                     ๔. ความผิดฐานกรรโชก
                     ๕. ชิงทรัพย์ และปล้นทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา
                     ๖. ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี
                     ๗. ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยมาตรการในการป้องกันและปราบปรามการค้าหญิงและเด็ก (ฐานค้ามนุษย์)
                     ๘. ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยสถานบริการ หรือ
                     ๙. คดีความผิดอื่นที่มีอัตราโทษจำคุก ซึ่งผู้เสียหายหรือพยานที่เป็นเด็กอายุไม่เกินสิบแปดปีร้องขอ (ทุกคดีที่มีโทษจำคุก)
                ให้พนักงานสอบสวน มีหน้าที่ดังนี้
                     -  แยกกระทำเป็นส่วนสัดในสถานที่ที่เหมาะสมสำหรับเด็ก และ
                     -  ให้มีนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ บุคคลที่เด็กร้องขอ และพนักงานอัยการร่วมอยู่ด้วยในการถามปากคำเด็กนั้น และ
                     -  ในกรณีที่นักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์เห็นว่า การถามปากคำเด็กคนใด หรือคำถามใด อาจจะมีผลกระทบกระเทือนต่อจิตใจเด็กอย่างรุนแรง ให้พนักงานสอบสวนถามผ่านนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์เป็นการเฉพาะตามประเด็นคำถามของพนักงานสอบสวน โดยมิให้เด็กได้ยินคำถามของพนักงานสอบสวน และห้ามมิให้ถามเด็กซ้ำซ้อนหลายครั้งโดยไม่มีเหตุอันสมควร
                    -  ให้เป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนที่จะต้องแจ้งให้นักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ บุคคลที่เด็กร้องขอ และพนักงานอัยการทราบ แจ้งให้ผู้เสียหายหรือพยานที่เป็นเด็กทราบถึงสิทธิตามวรรคหนึ่งด้วย  (วรรคสอง)
                นักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ หรือพนักงานอัยการ ที่เข้าร่วมในการถามปากคำ อาจถูกผู้เสียหายหรือพยานซึ่งเป็นเด็กตั้งรังเกียจได้ หากมีกรณีดังกล่าวให้เปลี่ยนตัวผู้นั้น   (วรรคสาม)
                ภายใต้บังคับแห่งมาตรา ๑๓๙  (ให้พนักงานสอบสวนบันทึกการสอบสวนตามหลักทั่วไปในประมวลกฎหมายนี้อันว่าด้วยการสอบสวนและให้เอาบันทึก เอกสารอื่นซึ่งได้มา อีกทั้งบันทึกเอกสารทั้งหลายซึ่งเจ้าพนักงานอื่นผู้สอบสวนคดีเดียวกันนั้นส่งมารวมเข้าสำนวนไว้ เอกสารที่ยื่นเป็นพยานให้รวมเข้าสำนวน ถ้าเป็นสิ่งของอย่างอื่นให้ทำบัญชีรายละเอียดรวมเข้าสำนวนไว้ เพื่อประโยชน์ในการติดตามพยานให้ไปตามกำหนดนัดของศาล ให้พนักงานสอบสวนบันทึกรายชื่อของพยานบุคคลทั้งหมดพร้อมที่อยู่หรือสถานที่ติดต่อ หมายเลขโทรศัพท์หรือช่องทางอื่นที่ใช้ในการติดต่อพยานเหล่านั้นเก็บไว้ ณ ที่ทำการของพนักงานสอบสวน)  การถามปากคำเด็กตามวรรคหนึ่ง ให้พนักงานสอบสวนจัดให้มีการบันทึกภาพและเสียงการถามปากคำดังกล่าวซึ่งสามารถนำออกถ่ายทอดได้อย่างต่อเนื่องไว้เป็นพยาน
                 ในกรณีจำเป็นเร่งด่วนอย่างยิ่ง ซึ่งมีเหตุอันควร    (วรรคห้า)
                     -  ไม่อาจรอนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ บุคคลที่เด็กร้องขอ และพนักงานอัยการเข้าร่วมในการถามปากคำพร้อมกันได้
                    -  ให้พนักงานสอบสวนถามปากคำเด็ก โดยมีบุคคลใดบุคคลหนึ่งตามวรรคหนึ่งอยู่ร่วมด้วยก็ได้
                    -  แต่ต้องบันทึกเหตุที่ไม่อาจรอบุคคลอื่นไว้ในสำนวนการสอบสวน และ
                    -  มิให้ถือว่าการถามปากคำผู้เสียหายหรือพยานซึ่งเป็นเด็กในกรณีดังกล่าวที่ได้กระทำไปแล้วไม่ชอบด้วยกฎหมาย

            (คำถาม.- ความผิดฐานกระทำโดยประมาทและการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ หรือใช้กำลังทำร้ายผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ซึ่งอยู่ในภาค ๓ ลหุโทษ พนักงานสอบสวนก็ต้องดำเนินการตาม มาตรา ๑๓๓ ทวิ หรือไม่
             คำตอบ.- เมื่อพิจารณาดูเจตนารมณ์ของกฎหมายจากความผิดที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย จะเห็นได้ว่า กฎหมายต้องการคุ้มครองเด็กในคดีความผิดเกี่ยวกับชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ และเพศ ในรูปแบบต่าง ๆ ที่บัญญัติไว้ในกฎหมายหลายฉบับเป็นการทั่วไป โดยไม่ได้เจาะจงว่าความผิดนั้นจะต้องอยู่ในลักษณะความผิด ภาค ๒ ของประมวลกฎหมายอาญาเท่านั้น จึงจะสอบถามปากคำเด็กตามวิธีการนี้ได้ ดังนั้น แม้จะเป็นคดีลหุโทษ ซึ่งอยู่ใน ภาค ๓ พนักงานสอบสวนก็ต้องดำเนินการตาม มาตรา ๑๓๓ ทวิ นี้ด้วยเช่นกัน)
                 "มาตรา ๑๓๔/๑  ในคดีที่มีอัตราโทษประหารชีวิต หรือในคดีที่ผู้ต้องหามีอายุไม่เกินสิบแปดปีในวันที่พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหา  ก่อนเริ่มถามคำให้การ ให้พนักงานสอบสวนถามผู้ต้องหาว่า มีทนายความหรือไม่  ถ้าไม่มีและผู้ต้องหาต้องการทนายความ ให้รัฐจัดหาทนายความให้
                   ในคดีที่มีอัตราโทษจำคุก ก่อนเริ่มถามคำให้การ ให้พนักงานสอบสวนถามผู้ต้องหาว่ามีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มีและผู้ต้องหาต้องการทนายความ ให้รัฐจัดหาทนายความให้
                   การจัดหาทนายความตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง ให้พนักงานสอบสวนปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง และให้ทนายความที่รัฐจัดหาให้ได้รับเงินรางวัลและค่าใช้จ่ายตามระเบียบที่กระทรวงยุติธรรมกำหนดโดยได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงการคลัง
                  เมื่อได้จัดหาทนายความให้แก่ผู้ต้องหาตามวรรคหนึ่ง วรรคสอง หรือวรรคสามแล้ว ในกรณีจำเป็นเร่งด่วน หากทนายความไม่อาจมาพบผู้ต้องหาได้ โดยไม่แจ้งเหตุขัดข้องให้พนักงานสอบสวนทราบหรือแจ้งแต่ไม่มาพบผู้ต้องหาภายในเวลาอันสมควร ให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนผู้ต้องหาไปได้โดยไม่ต้องรอทนายความ แต่พนักงานสอบสวนต้องบันทึกเหตุนั้นไว้ในสำนวนการสอบสวนด้วย"
                 "มาตรา ๑๓๔/๒  ให้นำบทบัญญัติในมาตรา ๑๓๓ ทวิ มาใช้บังคับโดยอนุโลม แก่การสอบสวนผู้ต้องหาที่เป็นเด็กอายุไม่เกินสิบแปดปี"
               
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๖๑๐/๒๕๕๑
ป.วิ.อ. มาตรา ๑๒๐, ๑๓๓ ทวิ วรรคหนึ่ง, ๑๓๓ ทวิ วรรคสี่, ๑๓๓ ทวิ วรรคห้า
                เมื่อจำเลยถูกกล่าวหาว่า พรากนางสาว จ. ผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปี แต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลเพื่อหากำไรหรือเพื่อการอนาจาร โดยผู้เยาว์นั้นเต็มใจไปด้วย ซึ่งเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา ๓๑๙ วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สี่พันบาทถึงสองหมื่นบาท
                เมื่อปรากฏว่านางสาว จ. มีอายุเพียง ๑๗ ปีเศษ การสอบปากคำนางสาว จ. ไม่ว่าในฐานะผู้เสียหายหรือพยาน จึงต้องปฏิบัติตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๑๓๓ ทวิ วรรคหนึ่งและวรรคสี่ โดยไม่มีข้อยกเว้น และไม่จำต้องได้รับการร้องขอจากนางสาว จ. ทั้งไม่ปรากฏว่ามีกรณีจำเป็นเร่งด่วนอย่างยิ่งซึ่งมีเหตุอันควรไม่อาจรอบุคคลตามวรรคหนึ่งได้ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๓๓ ทวิ วรรคห้า แต่อย่างใด
                การที่พนักงานสอบสวนสอบปากคำนางสาว จ. โดยไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องตามบทบัญญัติดังกล่าว แม้จะเป็นการไม่ชอบ แต่ก็หามีผลทำให้การสอบสวนเสียไปทั้งหมดและถือเท่ากับไม่มีการสอบสวนในความผิดนั้นมาก่อน อันจะทำให้พนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๑๒๐ ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๕๒๙๔/๒๕๔๙
ป.วิ.อ. มาตรา ๑๒๐, ๑๓๓ ทวิ, ๑๗๒ ตรี, ๒๒๖
               ในชั้นสอบสวนพนักงานสอบสวนได้สอบปากคำเด็กหญิง ว. ซึ่งมีอายุ ๑๓ ปีเศษ ในฐานะพยาน โดยไม่ได้จัดให้มีนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ บุคคลที่เด็กร้องขอและพนักงานอัยการเข้าร่วมในการถามปากคำ คำให้การของเด็กหญิง ว. จึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา ๑๓๓ ทวิ วรรคหนึ่ง
               แต่ผลของการไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติมาตรานี้ คงทำให้คำให้การในชั้นสอบสวนของเด็กหญิง ว. ไม่อาจรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๒๒๖ และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ มาตรา ๒๔๓ วรรคสอง เท่านั้น ไม่เป็นเหตุให้การสอบสวนของพนักงานสอบสวนเสียไปทั้งหมด ถือได้ว่ามีการสอบสวนความผิดในคดีนี้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๑๒๐ แล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยได้
               แม้การสอบสวนเด็กหญิง ว. ซึ่งมีอายุไม่เกิน ๑๘ ปี จะไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา ๑๓๓ ทวิ วรรคหนึ่ง แต่เมื่อในชั้นพิจารณาโจทก์อ้างเด็กหญิง ว. เป็นพยาน และเด็กหญิง ว. ได้เบิกความต่อหน้าศาลโดยผ่านนักสังคมสงเคราะห์ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา ๑๗๒ ตรี แล้ว ศาลย่อมรับฟังคำเบิกความของเด็กหญิง ว. เป็นพยานได้