พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.๒๕๕๓
มาตรา ๗๗ ในระหว่างการสอบสวน หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับอายุของเด็ก ที่ถูกจับกุมหรือควบคุม ให้พนักงานสอบสวน มีอำนาจดำเนินการสอบสวน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง แต่หากปรากฏภายหลังว่า เด็กนั้นมีอายุไม่เกินสิบปีในขณะกระทำความผิด และเด็กอยู่ในความควบคุมของสถานพินิจหรือองค์การอื่นใด ให้สถานพินิจหรือองค์การดังกล่าว รายงานให้ศาลทราบ เพื่อให้ศาลมีคำสั่งปล่อยตัวเด็ก และดำเนินการต่อไปตามที่กำหนดไว้ดังต่อไปนี้ โดยอนุโลม
มาตรา ๗๗ ในระหว่างการสอบสวน หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับอายุของเด็ก ที่ถูกจับกุมหรือควบคุม ให้พนักงานสอบสวน มีอำนาจดำเนินการสอบสวน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง แต่หากปรากฏภายหลังว่า เด็กนั้นมีอายุไม่เกินสิบปีในขณะกระทำความผิด และเด็กอยู่ในความควบคุมของสถานพินิจหรือองค์การอื่นใด ให้สถานพินิจหรือองค์การดังกล่าว รายงานให้ศาลทราบ เพื่อให้ศาลมีคำสั่งปล่อยตัวเด็ก และดำเนินการต่อไปตามที่กำหนดไว้ดังต่อไปนี้ โดยอนุโลม
หากปรากฏเป็นที่แน่ชัดว่า เด็กซึ่งถูกจับกุมหรือควบคุมนั้นในขณะกระทำความผิด อายุไม่เกินสิบปีบริบูรณ์ ให้ดำเนินการต่อไป
ดังนี้
(๑) ให้พนักงานสอบสวน ดำเนินการสอบสวนไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและกฎหมายอื่น
ๆ ที่เกี่ยวข้อง เมื่อสอบสวนเสร็จแล้ว ให้พนักงานสอบสวนทำความเห็นว่า เด็กนั้น ได้กระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหา
หรือ ไม่ได้กระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหา หรือ พยานหลักฐานรับฟังไม่ได้ว่าเด็กกระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหา ส่งไปยังพนักงานอัยการพร้อมด้วยสำนวนในระหว่างการสอบสวน
ให้พนักงานสอบสวนมอบตัวเด็กให้อยู่ในความปกครองดูแลของบิดา มารดา ผู้ปกครอง หรือบุคคลหรือองค์การ ซึ่งเด็กอาศัยอยู่ด้วย ในกรณีที่เด็กไม่มีบิดา มารดา ผู้ปกครอง บุคคลหรือองค์การดังกล่าว ให้ส่งตัวเด็กไปยังพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองเด็ก ในโอกาสแรกที่กระทำได้
แต่ต้องภายในเวลาไม่เกินยี่สิบสี่ชั่วโมงนับแต่เวลาที่เด็กนั้นมาถึงสถานที่ทำการของพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ
(๒) ถ้าพนักงานอัยการเห็นชอบด้วยว่า เด็กไม่ได้กระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหา หรือ พยานหลักฐานรับฟังไม่ได้ว่าเด็กกระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหา ให้พนักงานสอบสวนแจ้ง บิดามารดา ผู้ปกครองหรือองค์การซึ่งเด็กอาศัยอยู่ด้วย หรือ พนักงานเจ้าหน้าที่
แล้วแต่กรณี ทราบในโอกาสแรกที่กระทำได้แต่ต้องภายในเวลาไม่เกินสิบห้าวันนับแต่วันที่รับทราบความเห็นของพนักงานอัยการ
หากพนักงานอัยการเห็นว่า เด็กนั้นได้กระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหา ให้พนักงานสอบสวนส่งตัวเด็กไปยังพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองเด็ก ในโอกาสแรกที่กระทำได้แต่ต้องภายในเวลาไม่เกินสิบห้าวันนับแต่วันที่รับทราบความเห็นของพนักงานอัยการ เพื่อดำเนินการต่อไปตามกฎหมายดังกล่าว
ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสำคัญ
----------------------------------------------------------------------------------------------
บันทึกข้อความ
ส่วนราชการ ตร. โทร. ๐๒๒๐๕๓๔๘๖ โทรสาร ๐๒๒๕๑๒๖๖๒ ที่ ๐๐๑.๒๕/ ๓๓๙๔ วันที่ ๒๖ สิงหาคม ๒๕๕๓
เรื่อง กำชับการปฏิบัติหน้าที่กรณีการสอบสวนคดีที่ผู้ต้องหาเป็นเด็กอายุยังไม่เกินสิบปี (เพิ่มเติม)
ผบช.น. , ภ.๑ - ๙ , ศชต. , ก. , ปส. และ สตม.
ตามหนังสือ ตร.ที่ ๐๐๑๑.๒๕/๖๘๗๗ ลง ๒๐ พ.ย.๒๕๕๒ แจ้งแนวทางปฏิบัติในการสอบสวนคดีที่ผู้ต้องหาเป็นเด็กอายุไม่เกินสิบปี ซึ่งตาม ป.อาญา มาตรา ๗๓ วรรคแรก บัญญัติว่า เด็กอายุยังไม่เกินสิบปี กระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด เด็กนั้นไม่ต้องรับโทษ
เนื่องจากมีหน่วยงานหารือแนวทางปฏิบัติตามหนังสือข้างต้น จึงเห็นว่า มีประเด็นที่ควรกำหนดแนวทางปฏิบัติเพิ่มเติมเพื่อให้การปฏิบัติเป็นไปโดยถูกต้องตามกฎหมายและเกิดความชัดเจนยิ่งขึ้น ดังนี้
๑. การสอบสวนคดีที่ผู้ต้องหาเป็นเด็กอายุยังไม่เกินสิบปี หากการสอบสวนพยานหลักฐานรับฟังได้ว่าเด็กนั้นกระทำผิด พนักงานสอบสวนจะทำความเห็นทางคดีว่า ควรสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหา โดยจะต้องปรับบทตาม ป.อ. มาตรา ๗๓ วรรคแรก หรือปรับบทตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๓๙ (๗) นั้น
เห็นว่า ตาม ป.อ. มาตรา ๗๓ วรรคแรก เป็นบทบัญญัติที่ไม่เอาโทษเด็กผู้กระทำผิดมาตั้งแต่ต้น มิใช่เป็นกรณีที่กฎหมายบัญญัติยกเว้นโทษ การปรับบทกฎหมายที่ถูกต้องตรงตามหลักวิชาการ ต้องปรับบทตาม ป.อ. มาตรา ๗๓ วรรคแรก
๒. กรณีตามระเบียบคณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติ ว่าด้วยวิธีการคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กที่ต้องหาว่ากระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิดและอายุยังไม่ถึงเกณฑ์ต้องรับโทษทางอาญา พ.ศ.๒๕๕๑ ข้อ ๓ (๑) กำหนดให้พนักงานสอบสวนทำความเห็นว่าเด็กได้กระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหาหรือไม่ได้กระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหาเท่านั้น หรืออีกนัยหนึ่งคือ ให้พิจารณาพยานหลักฐานไปตามหลักวิชาว่า พยานหลักฐานเชื่อว่าเด็กได้กระทำความผิดหรือไม่ มาตราใด ด้วยพยานหลักฐานใด ทั้งนี้ เพื่อประกอบการพิจารณาของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในอันที่จะได้รู้ถึงข้อเท็จจริงหรือสาเหตุของการกระทำ และจะได้กำหนดวิธีปฏิบัติในการคุ้มครองสวัสดิภาพของเด็กนั้นได้ถูกต้อง หาได้เป็นระเบียบที่บังคับหรือผูกพันให้ต้องทำความเห็นทางคดีเป็นอย่างอื่นนอกจากที่บัญญัติไว้ในข้อ ๑ ไม่ พนักงานสอบสวนจึงชอบที่จะทำความเห็นทางคดีไปดังที่กล่าวไว้ในข้อ ๑
จึงแจ้งมาเพื่อทราบ และแจ้งให้พนักงานสอบสวนทราบ ถือปฏิบัติต่อไป
พล.ต.อ.ปานศิริ ประภาวัต
รอง ผบ.ตร.ปรท.ผบ.ตร.
(ข้อพิจารณา.- ตามหนังสือข้างต้น กรณีเด็กได้กระทำความผิดหรือไม่ได้กระทำความผิดก็ตาม พนักงานสอบสวนไม่ต้องทำความเห็นสั่งฟ้อง หรือสั่งไม่ฟ้อง)
ประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา ๗๓ เด็กอายุยังไม่เกินสิบปี กระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิดเด็กนั้นไม่ต้องรับโทษ
ให้พนักงานสอบสวนส่งตัวเด็กตามวรรคหนึ่ง ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองเด็ก เพื่อดำเนินการคุ้มครองสวัสดิภาพตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น
-----------------------------------------------------------------------------------------------------
บันทึกข้อความ
ส่วนราชการ ตร. โทร. ๐๒๒๐๕๓๔๘๖ ที่ ๐๐๑.๒๕/ ๖๘๗๗ วันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๒
เรื่อง การสอบสวนคดีที่ผู้ต้องหาเป็นเด็กอายุยังไม่เกินสิบปี
ผบช.น. , ภ.๑ - ๙ , ศชต. , ก. , ปส. และ สตม.
ด้วยสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีเยาวชนและครอบครัว ๑ ได้ส่งสำนวนการสอบสวนคดีอาญากล่าวหาเด็กอายุไม่เกินสิบปีมีการกระทำความผิด โดยมีคำสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาไปยัง ตร. เพื่อพิจารณาตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๑๔๕
ตร.ได้พิจารณาแล้วพบว่า พนักงานสอบสวนได้สรุปสำนวนการสอบสวนมีความเห็นควรสั่งฟ้องผู้ต้องหา ซึ่งเป็นเด็กอายุยังไม่เกินสิบปี เป็นการแสดงให้เห็นว่าพนักงานสอบสวนมีความเข้าใจบทบัญญัติของกฎหมายในคดีที่เด็กเป็นผู้กระทำผิดคลาดเคลื่อน เนื่องจากตาม ป.อ. มาตรา ๗๓ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "เด็กอายุยังไม่เกินสิบปีกระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด เด็กนั้นไม่ต้องรับโทษ" อันส่งผลให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับ ตาม ป.วิ.อ.มาตรา ๓๙ (๗) ซึ่งในคดีที่พนักงานสอบสวนได้ทำการสอบสวนแล้ว ปรากฏว่าผู้ต้องหาที่อายุไม่เกินสิบปีได้กระทำผิด พนักงานสอบสวนจะต้องมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาที่เป็นเด็กอายุไม่เกินสิบปี จึงเป็นการถูกต้องและชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้น เพื่อให้พนักงานสอบสวนได้ดำเนินการสอบสวนและมีความเห็นทางคดี ในกรณีที่ผู้กระทำผิดเป็นเด็กอายุไม่เกินสิบปี เป็นไปด้วยความถูกต้องและชอบด้วยกฎหมาย จึงให้ท่านกำชับพนักงานสอบสวนในสังกัดให้ถือปฏิบัติในการพิจารณามีความเห็นทางคดีในกรณีดังกล่าวต่อไป
จึงแจ้งมาเพื่อทราบ และแจ้งให้พนักงานสอบสวนทราบ และถือปฏิบัติโดยเคร่งครัดต่อไป
พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ
จตช.รรท.ผบ.ตร.
(ข้อพิจารณา.- หนังสือฉบับนี้ถูกแก้ไขโดย หนังสือ ตร. ที่ ๐๐๑.๒๕/๓๓๙๔ ลง ๒๖ ส.ค.๒๕๕๓)
ระเบียบที่เกี่ยวข้อง
- ระเบียบคณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติ ว่าด้วยวิธีการคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กที่ต้องหาว่ากระทําการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิดแต่อายุยังไม่ถึงเกณฑ์ต้องรับโทษทางอาญา พ.ศ.๒๕๕๕
- ระเบียบคณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติ ว่าด้วยวิธีการคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กที่ต้องหาว่ากระทําการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิดและอายุยังไม่ถึงเกณฑ์ต้องรับโทษทางอาญา พ.ศ.๒๕๕๑