วันพฤหัสบดีที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

เรื่องของอายุเด็ก

ประมวลกฎหมายอาญา
             "มาตรา ๗๓  เด็กอายุไม่เกินสิบปี กระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด เด็กนั้นไม่ต้องรับโทษ"
             "มาตรา ๗๔  เด็กอายุกว่าสิบปี แต่ยังไม่เกินสิบห้าปี กระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด เด็กนั้นไม่ต้องรับโทษ แต่ให้ศาลมีอำนาจที่จะดำเนินการดังต่อไปนี้  ...  "
             "มาตรา ๒๘๓ ทวิ  ผู้ใดพาบุคคลอายุเกินสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเพื่อการอนาจาร แม้ผู้นั้นจะยินยอมก็ตาม ..."

พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.๒๕๕๓
          มาตรา ๔  
             “เด็ก” หมายความว่า บุคคลอายุยังไม่เกินสิบห้าปีบริบูรณ์
             “เยาวชน” หมายความว่า บุคคลอายุเกินสิบห้าปีบริบูรณ์ แต่ยังไม่ถึงสิบแปดปีบริบูรณ์
          มาตรา ๕  คดีอาญาที่มีข้อหาว่าเด็กหรือเยาวชนกระทำความผิด ให้ถืออายุเด็กหรือเยาวชนนั้น ในวันที่การกระทำความผิดได้เกิดขึ้น

พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.๒๕๔๖
             มาตรา ๔
             “เด็ก” หมายความว่า บุคคลซึ่งมีอายุต่ำกว่าสิบแปดปีบริบูรณ์ แต่ไม่รวมถึงผู้ที่บรรลุนิติภาวะด้วยการสมรส

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
             "มาตรา ๑๓๓ ทวิ  ในคดีความผิดเกี่ยวกับเพศ ความผิดเกี่ยวกับชีวิตและร่างกายอันมิใช่ความผิดที่เกิดจากการชุลมุนต่อสู้ ความผิดเกี่ยวกับเสรีภาพ ความผิดฐานกรรโชก ชิงทรัพย์และปล้นทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้าหญิงและเด็ก ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยสถานบริการ หรือคดีความผิดอื่นที่มีอัตราโทษจำคุก ซึ่งผู้เสียหายหรือพยานที่เป็นเด็กอายุไม่เกินสิบแปดปี ให้พนักงานสอบสวนแยกกระทำเป็นส่วนสัดในสถานที่ที่เหมาะสมสำหรับเด็ก และให้มีนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ บุคคลที่เด็กร้องขอและพนักงานอัยการร่วมอยู่ด้วยในการถามปากคำเด็กนั้น ฯลฯ
             "มาตรา ๑๓๔/๒   ให้นำบทบัญญัติในมาตรา ๑๓๓ ทวิ มาใช้บังคับโดยอนุโลมแก่การสอบสวนผู้ต้องหาที่เป็นเด็กอายุไม่เกินสิบแปดปี
              ในคดีที่มีอัตราโทษประหารชีวิต หรือในคดีที่ผู้ต้องหามีอายุไม่เกินสิบแปดปีในวันที่พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหา ก่อนเริ่มถามคำให้การให้พนักงานสอบสวนถามผู้ต้องหาว่ามีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มีให้รัฐจัดหาทนายความให้
              ในคดีที่มีอัตราโทษจำคุก ก่อนเริ่มถามคำให้การให้พนักงานสอบสวนถามผู้ต้องหาว่ามีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มีและผู้ต้องหาต้องการทนายความ ให้รัฐจัดหาทนายความให้"

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
             "มาตรา ๑๙๓/๕  ถ้ากำหนดระยะเวลาเป็นสัปดาห์ เดือน หรือปี ให้คำนวนตามปีปฏิทิน
              ถ้าระยะเวลามิได้กำหนดนับแต่วันต้นแห่งสัปดาห์ วันต้นแห่งเดือนหรือปี ระยะเวลาย่อมสิ้นสุดลงในวันก่อนหน้าจะถึงวันแห่งสัปดาห์ เดือน หรือปีสุดท้ายอันเป็นวันตรงกับวันเริ่มระยะเวลานั้น ถ้าในระยะเวลานับเป็นเดือนหรือปีนั้นไม่มีวันตรงกันในเดือนสุดท้าย ให้ถือเอาวันสุดท้ายแห่งเดือนนั้นเป็นวันสิ้นสุดระยะเวลา"

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  ๗๘๔๑/๒๕๕๒
             ป.พ.พ. มาตรา ๑๖ บัญญัติว่า การนับอายุของบุคคลให้เริ่มนับแต่วันเกิด ผู้เสียหายที่ ๑ เกิดเมื่อวันที่ ๕ มีนาคม ๒๕๓๒ จึงต้องนับอายุแต่วันเกิดคือนับแต่วันที่ ๕ มีนาคม ๒๕๓๒ เป็นหนึ่งวันเต็ม ผู้เสียหายที่ ๑ จึงมีอายุ ๑๕ ปีบริบูรณ์ เมื่อวันที่ ๔ มีนาคม ๒๕๔๗ ตามนัยแห่ง ป.พ.พ. มาตรา ๑๙๓/๕ คดีได้ความว่า เหตุเกิดวันที่ ๕ มีนาคม ๒๕๔๗ เวลาประมาณ ๒ นาฬิกา ดังนั้นขณะเกิดเหตุผู้เสียหายที่ ๑ จึงมีอายุเกินกว่า ๑๕ ปีบริบูรณ์แล้ว กรณีจึงไม่เข้าองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา ๒๗๗ และ ๓๑๗
            (สรุป.- อายุคนให้เริ่มนับแต่วันที่เกิด ย่อมครบรอบปี ในวันก่อนหน้าจะถึงวันสุดท้ายอันเป็นวันตรงกับวันเริ่มระยะเวลานั้น)