วันพฤหัสบดีที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

การสืบพยานเด็ก ตามมาตรา ๑๗๒ ตรี

การสืบพยานเด็ก ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

               มาตรา ๑๗๒ ตรี  ในกรณีที่ไม่ได้ตัวพยานมาเบิกความ เพราะมีเหตุจำเป็นอย่างยิ่ง ให้ศาลรับฟังสื่อภาพและเสียงคำให้การของพยานนั้นในชั้นสอบสวนตามมาตรา ๑๓๓ ทวิ หรือชั้นไต่สวนมูลฟ้องตามมาตรา ๑๗๑ วรรคสอง เสมือนหนึ่งเป็นคำเบิกความของพยานนั้นในชั้นพิจารณาของศาล และให้ศาลรับฟังประกอบพยานอื่นในการพิจารณาพิพากษาคดีได้
                ก่อนการสืบพยาน  (ในกรณีได้ตัวพยานมาเบิกความ)
                     -  ถ้าศาลเห็นสมควร หรือ
                     -  ถ้าพยานที่เป็นเด็กอายุไม่เกินสิบแปดปีร้องขอโดยมีเหตุผลอันสมควร หรือ
                     -  คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งร้องขอโดยมีเหตุผลอันสมควร
                         =  ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้วเห็นว่าจะเป็นผลร้ายแก่เด็กถ้าไม่อนุญาตตามที่ร้องขอ
                 ให้ศาลจัดให้มีการถ่ายทอดภาพและเสียงคำให้การของผู้เสียหายหรือพยานที่เป็นเด็กอายุไม่เกินสิบแปดปีที่ได้บันทึกไว้ในชั้นสอบสวนตามมาตรา ๑๓๓ ทวิ หรือชั้นไต่สวนมูลฟ้องตามมาตรา ๑๗๑ วรรคสอง ต่อหน้าคู่ความ และ
                 ในกรณีเช่นนี้ให้ถือสื่อภาพและเสียงคำให้การของพยานดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของคำเบิกความของพยานนั้นในชั้นพิจารณาของศาล
                 โดยให้คู่ความถามพยานเพิ่มเติม ถามค้านหรือถามติงพยานได้ ทั้งนี้เท่าที่จำเป็นและภายในขอบเขตที่ศาลเห็นสมควร
                 ในการสืบพยานที่เป็นเด็กอายุไม่เกินสิบแปดปี
                    -  ให้ศาลจัดให้พยานอยู่ในสถานที่ที่เหมาะสมสำหรับเด็ก และ
                    -  ศาลอาจปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้
                        (๑) ศาลเป็นผู้ถามพยานเอง โดยแจ้งให้พยานนั้นทราบ ประเด็นและข้อเท็จจริงซึ่งต้องการสืบ แล้วให้พยานเบิกความในข้อนั้น ๆ หรือ ศาลจะถามผ่านนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ก็ได้
                        (๒) ให้คู่ความถาม ถามค้าน หรือถามติง ผ่านนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์      
                 ในการเบิกความของพยานดังกล่าว ให้มีการถ่ายทอดภาพและเสียงไปยังห้องพิจารณาด้วย และเป็นหน้าที่ของศาลที่จะต้องแจ้งให้นักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ทราบ
                 การปฏิบัติตามมาตรานี้ ให้ยกเว้นแต่ ในกรณีที่จำเลยอ้างตนเองเป็นพยาน
                มาตรา ๑๗๑ (วรรคสอง)  ให้นำบทบัญญัติในมาตรา ๑๓๓ ทวิ และมาตรา ๑๗๒ ตรี มาใช้บังคับโดยอนุโลมแก่การไต่สวนมูลฟ้องในคดีที่พยานเป็นเด็กอายุไม่เกินสิบแปดปี ทั้งในคดีที่ราษฎรเป็นโจทก์และในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10238/2550
                 โจทก์มีเวลาที่จะติดตามตัวผู้เสียหายมาเบิกความต่อศาลนับแต่วันฟ้องถึงวันนัดสืบพยานโจทก์เป็นเวลา 5 เดือนเศษ ระหว่างนั้นศาลชั้นต้นได้นัดพร้อม 2 ครั้ง เพื่อตรวจสอบผลการส่งหมายแก่พยาน โดยกำชับโจทก์ให้เร่งติดตามผู้เสียหายมาศาลในวันนัดให้ได้ แต่พนักงานสอบสวนแถลงต่อศาลลอย ๆ ในวันนัดสืบพยานโจทก์ว่า ยังไม่ทราบที่อยู่ที่แน่ชัดของผู้เสียหาย ดังนั้น การที่โจทก์ไม่ได้ตัวผู้เสียหายมาเบิกความ จึงยังถือไม่ได้ว่าเป็นกรณีที่มีเหตุจำเป็นอย่างยิ่ง ศาลจึงไม่สามารถรับฟังสื่อภาพและเสียงคำให้การของผู้เสียหายในชั้นสอบสวน เสมือนหนึ่งเป็นคำเบิกความของผู้เสียหายในชั้นพิจารณาของศาลตาม ป.วิ.อ. มาตรา 172 ตรี วรรคท้าย ได้ คงรับฟังได้ในฐานะพยานบอกเล่าตามธรรมดาเท่านั้น
                 แม้จะได้ความจากเทปบันทึกภาพและเสียงคำให้การและบันทึกคำให้การของผู้เสียหาย ซึ่งผู้เสียหายให้การไว้ในชั้นสอบสวนว่า ถูกจำเลยข่มขืนกระทำชำเราหลายครั้งตั้งแต่ผู้เสียหายอายุได้ 10 ปีก็ตาม แต่การสอบสวนดังกล่าวมิได้กระทำต่อหน้าจำเลย จำเลยไม่มีโอกาสถามค้านเพื่อให้ผู้เสียหายเบิกความถึงข้อเท็จจริงที่อาจเป็นการทำลายน้ำหนักพยานหลักฐานดังกล่าวของโจทก์ได้
                 ที่โจทก์ฎีกาอ้างว่าโจทก์มี ณ. เจ้าหน้าที่ศูนย์ดำรงธรรม จังหวัดพังงา มาเบิกความยืนยันว่าผู้เสียหายเล่าข้อเท็จจริงให้ฟังสอดคล้องกับคำให้การของผู้เสียหาย ก็เห็นได้ชัดว่า ณ. ได้รับการบอกเล่ามาจากผู้เสียหายอีกทีหนึ่ง คำเบิกความของ ณ. จึงไม่ทำให้พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด
                 เมื่อผู้เสียหายสมัครใจที่จะดำเนินคดีแก่จำเลย ผู้เสียหายก็น่าจะมาเบิกความต่อศาลให้เป็นที่สิ้นสงสัยว่าจำเลยได้กระทำความผิดตามที่ผู้เสียหายกล่าวหาจริง การที่โจทก์ไม่ได้ตัวผู้เสียหายมาเบิกความต่อศาล จึงทำให้พยานโจทก์ยังตกอยู่ในความสงสัยว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องจริงหรือไม่