วันศุกร์ที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

การจับกุมเด็ก

   พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.๒๕๕๓

                 การจับกุม
                 มาตรา ๖๖  ห้ามมิให้จับกุมเด็ก(บุคคลอายุยังไม่เกินสิบห้าปีบริบูรณ์) ซึ่งต้องหาว่ากระทําความผิด  เว้นแต่ 
                      -  เด็กนั้นได้กระทําความผิดซึ่งหน้า หรือ
                      -  มีหมายจับหรือคําสั่งของศาล 
                  การจับกุมเยาวชน(บุคคลอายุเกินสิบห้าปีบริบูรณ์แต่ยังไม่ถึงสิบแปดปีบริบูรณ์) ซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิด ให้เป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (คลิกดูที่นี่)
                 การออกหมายจับ
                 มาตรา ๖๗  การพิจารณาออกหมายจับเด็กหรือเยาวชนซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิด นอกจากต้องอยู่ภายใต้บังคับมาตรา ๖๖ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาแล้ว ให้ศาลคำนึงถึงการคุ้มครองสิทธิเด็กหรือเยาวชนเป็นสำคัญ โดยเฉพาะในเรื่องอายุ เพศ และอนาคตของเด็กหรือเยาวชนที่พึงได้รับการพัฒนาและปกป้องคุ้มครอง หากการออกหมายจับจะมีผลกระทบกระเทือนต่อจิตใจของเด็กหรือเยาวชนอย่างรุนแรงโดยไม่จำเป็น ให้พยายามเลี่ยงการออกหมายจับ โดยใช้วิธีติดตามตัวเด็กหรือเยาวชนนั้นด้วยวิธีอื่นก่อน
                  แจ้งสิทธิให้เด็กทราบ
                  มาตรา ๖๙  ในการจับกุมเด็กหรือเยาวชนซึ่งต้องหาว่ากระทําความผิด ให้เจ้าพนักงานผู้จับ 
                      -  แจ้งแก่เด็กหรือเยาวชนนั้นว่าเขาต้องถูกจับ และ
                      -  แจ้งข้อกล่าวหา รวมทั้งสิทธิตามกฎหมายให้ทราบ 
                      -  หากมีหมายจับให้แสดงต่อผู้ถูกจับ 
                      -  แล้วนําตัวผู้ถูกจับไปยังที่ทําการของพนักงานสอบสวนแห่งท้องที่ที่ถูกจับทันที เพื่อให้พนักงานสอบสวนของท้องที่ดังกล่าวส่งตัวผู้ถูกจับไปยังที่ทําการของพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบโดยเร็ว
                    แจ้งให้ปกครองทราบการจับ
                    ถ้าขณะจับกุมมีบิดา มารดา ผู้ปกครอง บุคคลหรือผู้แทนองค์การซึ่งเด็กหรือเยาวชนอาศัยอยู่ด้วย ในขณะนั้น ให้เจ้าพนักงานผู้จับ
                        -  แจ้งเหตุแห่งการจับให้บุคคลดังกล่าวทราบ และ
                        -  ในกรณีความผิดอาญาซึ่งมีอัตราโทษอย่างสูงตามที่กฎหมายกําหนดไว้ให้จําคุกไม่เกินห้าปีเจ้าพนักงานผู้จับจะสั่งให้บุคคลดังกล่าวเป็นผู้นําตัวเด็กหรือเยาวชนนั้นไปยังที่ทําการของพนักงานสอบสวนตามวรรคหนึ่งก็ได้ 
                    ถ้าในขณะนั้นไม่มีบุคคลดังกล่าวอยู่กับผู้ถูกจับ ให้เจ้าพนักงานผู้จับ
                       -  แจ้งให้บุคคลดังกล่าวคนใดคนหนึ่งทราบถึงการจับกุมในโอกาสแรกเท่าที่สามารถกระทําได้ และ
                       -  หากผู้ถูกจับประสงค์จะติดต่อสื่อสารหรือปรึกษาหารือกับบุคคลเหล่านั้น ซึ่งไม่เป็นอุปสรรคต่อการจับกุมและอยู่ในวิสัยที่จะดําเนินการได้ ให้เจ้าพนักงานผู้จับดําเนินการให้ตามควรแก่กรณี โดยไม่ชักช้า 
                    วิธีการจับกุมและควบคุม
                    ในการจับกุมและควบคุมเด็กหรือเยาวชนต้องกระทํา
                       -  โดยละมุนละม่อม 
                       -  โดยคํานึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และ 
                       -  ไม่เป็นการประจานเด็กหรือเยาวชน และ 
                       -  ห้ามมิให้ใช้วิธีการควบคุมเกินกว่าที่จําเป็น เพื่อป้องกันการหลบหนี หรือเพื่อความปลอดภัยของเด็กหรือเยาวชนผู้ถูกจับ หรือบุคคลอื่น รวมทั้ง
                       -  มิให้ใช้เครื่องพันธนาการแก่เด็กไม่ว่ากรณีใด ๆ เว้นแต่ มีความจําเป็นอย่างยิ่งอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ เพื่อป้องกันการหลบหนีหรือเพื่อความปลอดภัยของเด็กผู้ถูกจับหรือบุคคลอื่น
                     ก่อนส่งตัวให้ พงส.
                     ก่อนส่งตัวผู้ถูกจับให้พนักงานสอบสวนแห่งท้องที่ที่ถูกจับ ให้เจ้าพนักงานผู้จับ
                        -  ทําบันทึกการจับกุม โดยแจ้งข้อกล่าวหาและรายละเอียดเกี่ยวกับเหตุแห่งการจับให้ผู้ถูกจับทราบ ทั้งนี้ 
                        -  ห้ามมิให้ถามคําให้การผู้ถูกจับ 
                        -  ถ้าขณะทําบันทึกดังกล่าว มีบิดา มารดา ผู้ปกครอง หรือบุคคลหรือผู้แทนองค์การซึ่งเด็กหรือเยาวชนอาศัยอยู่ด้วยในขณะนั้น ต้องกระทําต่อหน้าบุคคลดังกล่าว และจะให้ลงลายมือชื่อเป็นพยานด้วยก็ได้ 
                        -  ถ้อยคําของเด็กหรือเยาวชนในชั้นจับกุม มิให้ศาลรับฟังเป็นพยานเพื่อพิสูจน์ความผิดของเด็กหรือเยาวชน แต่ศาลอาจนํามาฟังเป็นคุณแก่เด็กหรือเยาวชนได้    
                     ห้ามถ่ายภาพเด็ก
                     (มาตรา ๗๖) เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิเด็กหรือเยาวชนซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิด ห้ามมิให้เจ้าพนักงานผู้จับกุมเด็กหรือเยาวชน หรือพนักงานสอบสวน จัดให้มี หรืออนุญาตให้มี หรือยินยอม ให้มีการถ่ายภาพ หรือบันทึกภาพเด็กหรือเยาวชน ซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิด เว้นแต่เพื่อประโยชน์ในการสอบสวน