วันเสาร์ที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2558

การขอผัดฟ้องเด็กหรือเยาวชนกรณีฟื้นฟูฯ ไม่ผ่าน

คำพิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดพะเยา 
คดีหมายเลขดำที่ ๕๗/๒๕๕๘ คดีหมายเลขแดงที่ ๖๘/๒๕๕๘ ลงวันที่ ๘ ก.ค.๒๕๕๘
คดีความผิดต่อพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ
              พนักงานอัยการเป็นโจทก์ ฟ้องเยาวชนเป็นจำเลยว่ามียาเสพติดให้โทษชนิดเมทแอมเฟตามีน จำนวน ๒ หน่วยการใช้ น้ำหนัก ๐.๑๓๖ กรัม ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต กล่าวคือ เมื่อวันที่ ๕ ส.ค.๒๕๕๗ เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมตัวจำเลยได้พร้อมของกลางส่งพนักงานสอบสวนดำเนินคดี ในวันที่ ๖ ส.ค.๒๕๕๘ พนักงานสอบสวนได้ยื่นคำร้องขอให้ตรวจสอบการจับ แล้วศาลมีคำสั่งให้ส่งตัวจำเลยไปตรวจพิสูจน์ในวันเดียวกัน
             แม้ในระหว่างการควบคุมเพื่อตรวจพิสูจน์จะยังไม่นับรวมระยะเวลาที่กำหนดให้พนักงานสอบสวนยื่นคำร้องขอผัดฟ้องตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.๒๕๕๓ มาตรา ๗๘ วรรคหนึ่ง ถึงวรรคสาม (มาตรา ๗๘ "เมื่อมีการจับกุมเด็กหรือเยาวชนซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดตามมาตรา ๖๙ วรรคหนึ่ง หรือกรณีเด็กหรือเยาวชนปรากฏตัวอยู่ต่อหน้าพนักงานสอบสวนตามมาตรา ๗๐ วรรคหนึ่งให้พนักงานสอบสวนรีบดำเนินการสอบสวน และส่งสำนวนการสอบสวนพร้อมทั้งความเห็นไปยังพนักงานอัยการ เพื่อให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องต่อศาลเยาวชนและครอบครัวให้ทันภายในสามสิบวันนับแต่วันที่เด็กหรือเยาวชนนั้นถูกจับกุมหรือปรากฏตัวอยู่ต่อหน้าพนักงานสอบสวน แล้วแต่กรณี
            ในกรณีความผิดอาญาที่มีอัตราโทษอย่างสูงตามที่กฎหมายกำหนดไว้ให้จำคุกเกินหกเดือนแต่ไม่เกินห้าปี ไม่ว่าจะมีโทษปรับด้วยหรือไม่ก็ตาม หากเกิดความจำเป็นไม่สามารถฟ้องเด็กหรือเยาวชนนั้นต่อศาลได้ทันภายในระยะเวลาดังกล่าวในวรรคหนึ่ง ให้พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการแล้วแต่กรณี ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอผัดฟ้องต่อไปได้อีกครั้งละไม่เกินสิบห้าวัน แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินสองครั้ง
            ในกรณีความผิดอาญาที่มีอัตราโทษอย่างสูงตามที่กฎหมายกำหนดไว้ให้จำคุกเกินห้าปีไม่ว่าจะมีโทษปรับด้วยหรือไม่ก็ตาม เมื่อศาลสั่งอนุญาตให้ผัดฟ้องครบสองครั้งแล้ว หากพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอผัดฟ้องต่อไปอีก โดยอ้างเหตุจำเป็น ศาลจะอนุญาตตามคำขอนั้นได้ต่อเมื่อพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการได้แสดงถึงเหตุจำเป็นและนำพยานมาเบิกความประกอบจนเป็นที่พอใจแก่ศาล ในกรณีเช่นว่านี้ศาลมีอำนาจสั่งอนุญาตให้ผัดฟ้องต่อไปได้อีกครั้งละไม่เกินสิบห้าวัน แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินสองครั้ง") ก็ตาม
            แต่ปรากฏว่าเมื่อวันที่ ๑๓ พ.ย.๒๕๕๗ คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดได้มีคำสั่งส่งตัวจำเลยคืนไปยังพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการเพื่อดำเนินการต่อไป ดังนั้น ระยะเวลาผัดฟ้องของพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการจึงดำเนินการต่อไป ดังนั้น ระยะเวลาผัดฟ้องของพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการจึงเริ่มนับต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๗ ดังกล่าวต่อไป คงเหลืออีก ๒๙ วัน
            ดังนั้น เมื่อไม่ปรากฏว่าพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการยื่นคำร้องขอผัดฟ้องภายใน ๒๙ วัน นับแต่วันที่ ๑๓ พ.ย.๒๕๕๗ จึงถือว่าพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการมิได้ยื่นคำร้องขอผัดฟ้องภายในเวลาที่กำหนด และพนักงานอัยการก็ไม่ได้รับอนุญาตจากอัยการสูงสุดเพื่อฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดเวลาตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.๒๕๕๓ มาตรา ๘๐ มีผลทำให้พนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้อง
            แม้จะได้ความตามฟ้องของโจทก์ว่า พนักงานสอบสวนสามารถติดตามตัวจำเลยได้เมื่อวันที่ ๑๓ มิ.ย.๒๕๕๘  และผู้ว่าราชการจังหวัดเห็นชอบกับคำสั่งไม่ฟ้องเมื่อวันที่ ๑ ก.ค.๒๕๕๘ ก็ตาม ก็เป็นเรื่องที่พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการรวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องดำเนินการภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด ไม่เกี่ยวข้องกับระยะเวลาผัดฟ้องแต่อย่างใด

           ข้อสังเกต
            -  เมื่อเจ้าพนักงานตำรวจทำการทดสอบปัสสาวะของเด็กหรือเยาวชน แล้วพบว่ามีการเสพยาเสพติดให้โทษชนิดเมทแอมเฟตามีนมาก่อน โดยเจ้าพนักงานตำรวจไม่เห็นขณะเด็กหรือเยาวชนขณะกำลังเสพยาเสพติดที่ถือว่าเป็นการกระทำความผิดซึ่งหน้า กรณีนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมาย โดยทั่วไปเจ้าพนักงานตำรวจจะไม่จับกุมเด็กหรือเยาวชนในข้อหาเสพยาเสพติดให้โทษ แต่เนื่องจากในคดีนี้ เยาวชนเป็นผู้ต้องหาได้ครอบครองยาเสพติดให้โทษด้วย จึงถือว่าเป็นการกระทำความผิดซึ่งหน้า
           -  เชื่อว่า คดีนี้หลังจากที่ศาลมีคำสั่งให้ควบคุมระหว่างตรวจพิสูจน์ ผู้ต้องหาที่เป็นเยาวชนได้รับการอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวไปแล้ว แต่พนักงานเจ้าหน้าที่ไม่อาจติดตามตัวผู้ต้องหานั้นมามอบคืนให้พนักงานสอบสวนได้ ในวันที่คณะอนุกรรมการฟื้นฟูฯ ได้มีคำสั่งส่งตัวผู้ต้องหาคืนไปยังพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินการต่อไป(วันที่ ๑๓ พ.ย.๒๕๕๗) ต่อมาวันที่ ๑๓ มิ.ย.๒๕๕๘ พนักงานสอบสวนจึงสามารถติดตามตัวได้ พนักงานอัยการจึงได้ทำความเห็นสั่งไม่ฟ้องบางข้อหาส่งสำนวนการสอบสวนไปให้ผู้ว่าราชการจังหวัด จนกระทั่งวันที่ ๑ ก.ค.๒๕๕๘ ผู้ว่าราชการจังหวัดจึงเห็นชอบกับคำสั่งไม่ฟ้อง(ในข้อหาเสพฯ) แต่พนักงานอัยการสั่งฟ้องในข้อหามียาเสพติดให้โทษไว้ในครอบครองฯ ซึ่งขั้นตอนการทำความเห็นของพนักงานอัยการและของผู้ว่าราชการจังหวัดนั้น ไม่เป็นเหตุให้ยกเว้นหรือเกี่ยวข้องกับระยะเวลาการผัดฟ้องแต่อย่างใด
          -  นับแต่วันที่ผู้ต้องหาถูกจับพร้อมของกลางส่งพนักงานสอบสวนดำเนินคดี พนักงานสอบสวนได้ยื่นคำร้องต่อศาลขอให้ตรวจสอบการจับและขอให้ศาลส่งตัวจำเลยไปตรวจพิสูจน์ด้วย ต่อมาปรากฏว่า คณะอนุกรรมการฟื้นฟูฯ ได้มีคำสั่งส่งตัวจำเลยคืนไปยังพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการเพื่อดำเนินการต่อไป แต่ไม่มีตัวจำเลยส่งคืนมาให้ด้วย กรณีนี้ พนักงานสอบสวนต้องยื่นคำร้องขอผัดฟ้องภายใน ๓๐ วัน นับแต่วันที่เด็กหรือเยาวชนนั้นถูกจับกุม ตามมาตรา ๗๘ วรรคหนึ่ง วิธีการนับระยะเวลาในคดีนี้ จึงเริ่มนับตั้งแต่วันที่เยาวชนถูกจับเป็น ๑ วัน แต่ไม่นับรวมระยะเวลาควบคุมเพื่อตรวจพิสูจน์ไปด้วย ระยะเวลาจึงเหลืออยู่ ๒๙ วัน โดยให้เริ่มนับต่อเนื่องต่อไปในวันที่คณะอนุกรรมการฟื้นฟูฯ ได้มีคำสั่งส่งตัวจำเลยคืนไปยังพนักงานสอบสวน
           -  เมื่อครบกำหนด ๓๐ วัน ดังกล่าวแล้ว พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการแล้วแต่กรณี จะต้องยื่นคำร้องขอผัดฟ้องต่อศาล แม้ว่าไม่มีตัวผู้ต้องหาก็ตาม หากผัดฟ้องจนครบกำหนด ๒ ครั้ง หรือ ๔ ครั้ง ตามมาตรา ๗๘ วรรคสองและวรรคสามแล้วแต่กรณี แล้วยังไม่สามารถติดตามตัวผู้ต้องหามาฟ้องได้ทัน ก็ต้องขาดผัดฟ้องไปตามกฎหมาย กรณีนี้ หากได้ตัวผู้ต้องหามาฟ้องในภายหลัง พนักงานอัยการก็ต้องขออนุญาตอัยการสูงสุดเพื่อฟ้องคดีต่อศาลตามมาตรา ๘๐ (มาตรา ๘๐ "ห้ามมิให้พนักงานอัยการฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาตามมาตรา ๗๘ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากอัยการสูงสุด") ไม่เช่นนั้น จะถือว่าพนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้อง