วันจันทร์ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2556

การเปรียบเทียบปรับเด็กอายุไม่เกินสิบห้าปี

           พนักงานสอบสวนไม่สามารถรับชำระค่าปรับในคดีมีอัตราโทษปรับสถานเดียว กรณีเด็กอายุไม่เกินสิบห้าปีกระทำผิดและยินยอมเสียค่าปรับได้
           ไม่ว่าจะเป็นการปรับในอัตราอย่างสูงตาม ป.วิ อาญา มาตรา ๓๗ (๑) หรือจะทำการเปรียบเทียบตาม (๒) (๓) และ (๔) ก็ไม่ได้เช่นกัน

           กฎหมายที่เกี่ยวข้องมีดังนี้
            ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

           มาตรา ๓๗  คดีอาญาเลิกกันได้ ดังต่อไปนี้
           (๑)  ในคดีมีโทษปรับสถานเดียว เมื่อผู้กระทำผิดยินยอมเสียค่าปรับ ในอัตราโทษอย่างสูงสำหรับความผิดนั้นแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ ก่อนศาลพิจารณา
           (๒)  ในคดีความผิดที่เป็นลหุโทษ หรือความผิดที่มีอัตราโทษไม่สูงกว่าความผิดลหุโทษ หรือคดีอื่นที่มีโทษปรับสถานเดียวอย่างสูงไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท เมื่อผู้ต้องหาชำระค่าปรับตามที่พนักงานสอบสวนได้เปรียบเทียบแล้ว
           (๓)  ในคดีความผิดที่เป็นลหุโทษ หรือความผิดที่มีอัตราโทษไม่สูงกว่าความผิดลหุโทษ หรือคดีอื่นที่มีโทษปรับสถานเดียวอย่างสูงไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท ซึ่งเกิดขึ้นในกรุงเทพมหานคร เมื่อผู้ต้องหาชำระค่าปรับตามที่นายตำรวจประจำท้องที่ตั้งแต่ตำแหน่งสารวัตรขึ้นไป หรือนายตำรวจชั้นสัญญาบัตรผู้ทำการแทนในตำแหน่งนั้นๆ ได้เปรียบเทียบแล้ว
           (๔) ในคดีเปรียบเทียบได้ตามกฎหมายอื่น เมื่อผู้ต้องหาได้ชำระค่าปรับตามคำเปรียบเทียบของพนักงานเจ้าหน้าที่แล้ว

           มาตรา ๓๘  ความผิดตามอนุมาตรา (๒) (๓) และ (๔) ถ้าเจ้าพนักงานดังกล่าวในมาตรา ๓๗ เห็นว่า ผู้ต้องหาไม่ควรได้รับโทษถึงจำคุก ให้มีอำนาจเปรียบเทียบปรับดังนี้
           (๑) ให้กำหนดค่าปรับซึ่งผู้ต้องหาจะพึงชำระ ถ้าผู้ต้องหาและผู้เสียหายยินยอมตามนั้น เมื่อผู้ต้องหาได้ชำระเงินค่าปรับตามจำนวนที่เจ้าหน้าที่กำหนดให้ ภายในเวลาอันสมควร แต่ไม่เกินสิบห้าวัน คดีนั้นเป็นอันเสร็จเด็ดขาด
                  ถ้าผู้ต้องหาไม่ยินยอมตามที่เปรียบเทียบ หรือเมื่อยินยอมแล้วไม่ชำระเงินค่าปรับภายในกำหนดเวลาในวรรคก่อนให้ดำเนินคดีต่อไป

            มาตรา ๓๙  สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปดังต่อไปนี้
            (๑) โดยความตายของผู้กระทำผิด
            (๒) ในคดีความผิดต่อส่วนตัว เมื่อได้ถอนคำร้องทุกข์ ถอนฟ้องหรือยอมความกันโดยถูกต้องตามกฎหมาย
            (๓) เมื่อคดีเลิกกันตามมาตรา ๓๗
            (๔) เมื่อคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้อง
            (๕) เมื่อมีกฎหมายออกใช้ภายหลังการกระทำผิดยกเลิกความผิดเช่นนั้น
            (๖) เมื่อคดีขาดอายุความ
            (๗) เมื่อมีกฎหมายยกเว้นโทษ

            ประมวลกฎหมายอาญา
           มาตรา ๗๓  เด็กอายุไม่เกินสิบปี กระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด เด็กนั้นไม่ต้องรับโทษ

            มาตรา ๗๔  เด็กอายุกว่าสิบปี แต่ยังไม่เกินสิบห้าปี กระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด เด็กนั้นไม่ต้องรับโทษ แต่ให้ศาลมีอำนาจที่จะดำเนินการดังต่อไปนี้
            (๑)  ว่ากล่าวตักเตือนเด็กนั้นแล้วปล่อยตัวไป และถ้าศาลเห็นสมควรจะเรียกบิดา มารดา ผู้ปกครอง หรือบุคคลที่เด็กนั้นอาศัยอยู่มาตักเตือนด้วยก็ได้
            (๒) ถ้าศาลเห็นว่า บิดา มารดา หรือผู้ปกครองสามารถดูแลเด็กนั้นได้ ศาลจะมีคำสั่งให้มอบตัวเด็กนั้นให้แก่บิดา มารดา หรือผู้ปกครองไป โดยวางข้อกำหนดให้บิดา มารดา หรือผู้ปกครองระวังเด็กนั้นไม่ให้ก่อเหตุร้ายตลอดเวลาที่ศาลกำหนดซึ่งต้องไม่เกินสามปีและกำหนดจำนวนเงินตามที่เห็นสมควรซึ่งบิดา มารดา หรือผู้ปกครองจะต้องชำระต่อศาลไม่เกินครั้งละหนึ่งหมื่นบาท ในเมื่อเด็กนั้นก่อเหตุร้ายขึ้น
            ถ้าเด็กนั้นอาศัยอยู่กับบุคคลอื่นนอกจากบิดา มารดา หรือผู้ปกครอง และศาลเห็นว่าไม่สมควรจะเรียกบิดา มารดา หรือผู้ปกครองมาวางข้อกำหนดดังกล่าวข้างต้น ศาลจะเรียกตัวบุคคลที่เด็กนั้นอาศัยอยู่มาสอบถามว่า จะยอมรับข้อกำหนดทำนองที่บัญญัติไว้สำหรับบิดา มารดา หรือผู้ปกครองดังกล่าวมาข้างต้นหรือไม่ก็ได้ ถ้าบุคคลที่เด็กนั้นอาศัยอยู่ยอมรับข้อกำหนดเช่นว่านั้น ก็ให้ศาลมีคำสั่งมอบตัวเด็กให้แก่บุคคลนั้นไปโดยวางข้อกำหนดดังกล่าว
            (๓) ในกรณีที่ศาลมอบตัวเด็กให้แก่บิดา มารดา ผู้ปกครอง หรือบุคคลที่เด็กนั้นอาศัยอยู่ตาม (๒) ศาลจะกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติเด็กนั้นเช่นเดียวกับที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๕๖ ด้วยก็ได้ ในกรณีเช่นว่านี้ ให้ศาลแต่งตั้งพนักงานคุมประพฤติหรือพนักงานอื่นใดเพื่อคุมความประพฤติเด็กนั้น
            (๔) ถ้าเด็กนั้นไม่มีบิดา มารดา หรือผู้ปกครอง หรือมีแต่ศาลเห็นว่าไม่สามารถดูแลเด็กนั้นได้หรือถ้าเด็กอาศัยอยู่กับบุคคลอื่นนอกจากบิดา มารดา หรือผู้ปกครอง และบุคคลนั้นไม่ยอมรับข้อกำหนดดังกล่าวใน (๒) ศาลจะมีคำสั่งให้มอบตัวเด็กนั้นให้อยู่กับบุคคลหรือองค์การที่ศาลเห็นสมควรเพื่อดูแลอบรม และสั่งสอนตามระยะเวลาที่ศาลกำหนดก็ได้ในเมื่อบุคคลหรือองค์การนั้นยินยอม ในกรณีเช่นว่านี้ให้บุคคลหรือองค์การนั้นมีอำนาจเช่นผู้ปกครองเฉพาะเพื่อดูแล อบรม และสั่งสอน รวมตลอดถึงการกำหนดที่อยู่และการจัดให้เด็กมีงานทำตามสมควร หรือให้ดำเนินการคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กตามกฎหมายว่าด้วยการนั้นก็ได้ หรือ
            (๕) ส่งตัวเด็กนั้นไปยังโรงเรียน หรือสถานฝึกและอบรม หรือสถานที่ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อฝึกและอบรมเด็ก ตลอดระยะเวลาที่ศาลกำหนด แต่อย่าให้เกินกว่าที่เด็กนั้นจะมีอายุครบสิบแปดปี
             คำสั่งของศาลดังกล่าวใน (๒) (๓) (๔) และ (๕) นั้น ถ้าในขณะใดภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนดไว้ ความปรากฏแก่ศาลโดยศาลรู้เอง หรือตามคำเสนอของผู้มีส่วนได้เสีย พนักงานอัยการ หรือบุคคลหรือองค์การที่ศาลมอบตัวเด็กเพื่อดูแล อบรมและสั่งสอน หรือเจ้าพนักงานว่า พฤติการณ์เกี่ยวกับคำสั่งนั้นได้เปลี่ยนแปลงไป ก็ให้ศาลมีอำนาจเปลี่ยนแปลงแก้ไขคำสั่งนั้น หรือมีคำสั่งใหม่ตามอำนาจในมาตรานี้

            มาตรา ๑๘  โทษสำหรับลงแก่ผู้กระทำความผิดมีดังนี้
            (๑)  ประหารชีวิต
            (๒)  จำคุก
            (๓)  กักขัง
            (๔)  ปรับ
            (๕)  ริบทรัพย์สิน

             ข้อพิจารณา  เมื่อเด็กนั้นไม่ต้องรับโทษ จึงไม่สามารถชำระค่าปรับในอัตราอย่างสูงสำหรับความผิดนั้นแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ก่อนศาลพิจารณาตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๓๗ (๑) และในคดีความผิดตาม มาตรา ๓๗ (๒) (๓) และ (๔) เจ้าพนักงานผู้มีอำนาจเปรียบเทียบก็ไม่สามารถทำการเปรียบเทียบได้ เพราะไม่อาจกำหนดค่าปรับซึ่งผู้ต้องหาพึงชำระ ซึ่งทำให้ไม่มีค่าปรับเพื่อให้คดีเสร็จเด็ดขาดได้
             พนักงานสอบสวนจึงยังคงต้องทำสำนวนการสอบสวนตามปกติและไม่มีอำนาจเปรียบเทียบปรับผู้ต้องหาดังกล่าวเนื่องจาก การปรับเป็นโทษอย่างหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๘ แต่บทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๔  ยกเว้นให้เด็กอายุไม่เกิน ๑๕ ปี กระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิดไม่ต้องรับโทษ ซึ่งมาตราดังกล่าวได้กำหนดวิธีการต่างไว้ตาม (๑) (๕) แต่เป็นอำนาจของศาลในการพิจารณา มิได้เป็นอำนาจของพนักงานสอบสวน
อ้างอิง - หนังสือ ตร.ที่ ๐๐๑๑.๒๖/๒๙๓๔ ลง ๑๕ ก.ค.๒๕๓๖   
บทความที่เกี่ยวข้อง
๑.  บันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่องการเปรียบเทียบเด็กอายุไม่เกินสิบห้าปีซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิด (มิ.ย.๒๕๕๖) (ดูที่นี่)
๒.  บันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่องการเปรียบเทียบตาม มาตรา ๔๕๖ แห่ง พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.๒๕๕๑ เรื่องเสร็จที่ ๕๗๓/๒๕๕๕ (ดูที่นี)
(Update 7/10/2558)