วันศุกร์ที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

การให้ข่าวผู้ต้องหาหรือเด็กในคดีอาญา

               สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้มีคำสั่ง ตร. ที่ ๐๐๑๑.๒๕/๔๙๗๖ ลง ๑๙ พ.ย.๒๕๔๖ กำชับการปฏิบัติเกี่ยวกับการนำเด็กมาให้ข่าว แถลงข่าว และนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพไว้โดยมีใจความดังนี้
               บุคคลซึ่งมีอายุต่ำกว่าสิบแปดปีบริบูรณ์ ซึ่งเกี่ยวข้องกับคดีอาญา ไม่ว่าจะเป็นผู้เสียหายหรือผู้กระทำความผิดตลอดจนเป็นพยานรู้เห็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เจ้าพนักงานตำรวจไม่สามารถนำบุคคลดังกล่าวไปให้ข่าว หรือแถลงข่าว ทางสื่อสารมวลชน หรือสื่อสารสนเทศประเภทใด ๆ ซึ่งเป็นการห้ามโดยเด็ดขาด  แม้ว่า เจ้าพนักงานตำรวจจะใช้หมวกหรือผ้าคลุมหน้าไหมพรมปิดบังใบหน้าบุคคลนั้นเอาไว้เพื่อไม่ให้เห็นใบหน้า ในการแถลงข่าว หรือเผยแพร่สู่สาธารณชนทางสารสนเทศใด ๆ ก็มิอาจจะกระทำได้ทั้งสิ้น
              บุคคลซึ่งมีอายุต่ำกว่าสิบแปดปีบริบูรณ์เมื่อตกเป็นผู้ต้องหาว่ากระทำความผิดอาญา เจ้าพนักงานตำรวจไม่สามารถนำไปชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพโดยเด็ดขาด ยกเว้นมีกรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการสอบสวน จำเป็นต้องจัดให้ผู้ต้องหานั้นนำชี้ที่เกิดเหตุ เจ้าพนักงานตำรวจต้องไม่แจ้งหรือจัดให้สื่อมวลชนหรือสารสนเทศใดไปทำข่าว หากมีสื่อมวลชนหรือสื่อสารสนเทศประเภทใดทราบและติดตามไปเอง พนักงานสอบสวนหรือเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เกี่ยวข้องต้องแจ้งถึงข้อห้ามในการปฏิบัติ รวมทั้งข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องซึ่งอาจเป็นการกระทำที่เป็นความผิดตามกฎหมาย เช่น
               รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๒๖ มาตรา ๓๙
               พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.๒๕๔๖  มาตรา ๒๗ มาตรา ๗๙
               พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.๒๕๕๐ มาตรา ๙
               พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.๒๕๕๑ มาตรา ๕๖
               พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.๒๕๕๓ มาตรา ๗๖ มาตรา ๑๓๐ มาตรา ๑๙๒
               ทั้งนี้ ข้อห้ามในเรื่องการนำผู้เกี่ยวข้องกับคดีอาญาไปให้ข่าวกับข้อห้ามการจัดให้ผู้ต้องหานำชี้ที่เกิดเหตุ ทั้งสองข้อนั้น เป็นการห้ามโดยเด็ดขาด รวมไปถึงกรณีที่ให้ผู้ต้องหานำไปชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพแล้วถูกผู้เสียหายหรือประชาชนเข้าไปทำร้ายหรือพยายามทำร้ายร่างกายผู้ต้องหา หรือมีการโต้เถียงกับญาติผู้เสียหาย หรือนำผู้ต้องหาไปขอขมาศพต่อญาติผู้เสียหายแล้วถูกญาติผู้เสียหายทำร้าย
               เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายหรือส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ ตร. จึงได้มอบหมายให้กองสารนิเทศ (สท.) ดำเนินการตรวจสอบ ติดตาม และเฝ้าระวังผ่านทางสื่อสารมวลชนหรือสื่อสารสนเทศประเภทต่างๆ หากพบข้าราชการตำรวจฝ่าฝืน บกพร่อง หรือไม่ปฏิบัติตามข้อห้ามดังกล่าว ก็จะดำเนินการทางวินัยตำรวจต่อไป
               ต่อมา ได้มีคำสั่ง ตร.ที่ ๘๕๕/๒๕๔๘ เรื่อง การปฏิบัติเกี่ยวกับการให้ข่าว  การแถลงข่าว  การให้สัมภาษณ์  การเผยแพร่ภาพ ต่อสื่อมวลชน  และการจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์  กำหนดให้ข้าราชการตำรวจ ห้ามจัดให้สื่อมวลชนทุกแขนงเข้าทำข่าว ขณะเมื่อมีการให้ผู้ต้องหานำพนักงานสอบสวนไปชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพ  และหลีกเลี่ยงการให้สัมภาษณ์ใด ๆ ในลักษณะเป็นการโต้ตอบระหว่างพนักงานสอบสวนกับผู้ต้องหา หรือบุคคลใด โดยมีสื่อมวลชนทุกแขนงเป็นผู้สัมภาษณ์เนื่องจากอาจเป็นเหตุให้รูปคดีเสียหาย
              พนักงานสอบสวนไม่ควรให้ผู้ต้องหานำไปชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพว่า ผู้ต้องหากระทำผิดอย่างไร  เพราะการนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพดังกล่าวมิใช่พยานหลักฐานที่จะนำมารับฟังประกอบคำรับสารภาพของผู้ต้องหา เพื่อให้เห็นว่าผู้ต้องหากระทำผิดตามแนวคำพิพากษาฎีกาที่ ๗๕๖๒/๒๕๓๗  แต่ถ้าเป็นการนำชี้ประกอบคำรับอื่น เช่น นำชี้จุดที่ซ่อนทรัพย์สินซึ่งได้มาจากการกระทำผิด สิ่งของที่มีไว้เป็นความผิด ได้ใช้  หรือจะใช้ในการกระทำผิด  หรือสงสัยว่าจะใช้ในการกระทำความผิด หรืออาจใช้เป็นพยานหลักฐาน ให้ผู้ต้องหานำชี้ได้และป้องกันมิให้ผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าไปในที่นำชี้ ให้พึงระมัดระวังการใช้ถ้อยคำ หรือกิริยาท่าทางที่เห็นว่าเป็นการข่มขู่ หรือการปฏิบัติที่ไม่สมควรแก่ผู้ต้องหา รวมทั้งการทำร้ายร่ายกายผู้ต้องหา
              ไม่ว่ากรณีใด ๆ ก็ตาม ห้ามเจ้าพนักงานนำผู้ต้องหาที่เป็นเด็กอายุไม่เกิน 18 ปีบริบูรณ์ ไปชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพ  เพราะจะเป็นการประจานเด็ก  และอาจเป็นการกระทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับเด็ก นอกจากนี้ห้ามนำผู้เสียหาย พยาน เข้าร่วมในการนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพของผู้ต้องหาเป็นอันขาด โดยเฉพาะผู้เสียหายที่เป็นเด็ก สตรี พระภิกษุสามเณร นักพรต นักบวช
               ห้ามนำหรือจัดให้ผู้เสียหาย ผู้ต้องหา หรือพยาน มาให้ข่าวแถลงข่าวหรือให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนทุกแขนง  ยกเว้นกรณีที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน ให้ขออนุญาตต่อผู้บัญชาการ
               ไม่ว่ากรณีใด ๆ ก็ตาม ห้ามนำผู้เสียหาย ผู้ต้องหา หรือพยานที่เป็นเด็กอายุไม่เกิน 18 ปีบริบูรณ์ พระภิกษุสามเณร  นักพรต  นักบวช  ผู้เสียหายที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ มาให้ข่าวแถลงข่าว หรือให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนทุกแขนงเป็นอันขาด  รวมตลอดถึงการชี้ตัวผู้ต้องหาในลักษณะที่เป็นการเผชิญหน้าต่อสื่อมวลชนทุกแขนง
               ต่อมา  ได้มีคำสั่ง ตร.ที่ ๔๑๙/๒๕๕๖ ลง ๑ ก.ค.๒๕๕๖ ข้อ ๖.๑๐.๒ กำหนดให้ พนักงานสอบสวนไม่ควรให้ผู้ต้องหานำไปชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพว่าผู้ต้องหากระทำผิดอย่างไร แต่ถ้าเป็นการนำชี้ประกอบคำรับอื่น เช่น นำชี้จุดที่ซ่อนทรัพย์สิน ซึ่งได้มาจากการกระทำผิด สิ่งของที่มีไว้เป็นความผิด ได้ใช้ หรือจะใช้ในการกระทำผิด หรือสงสัยว่าจะใช้ในการกระทำผิด หรืออาจใช้เป็นพยานหลักฐาน อาจให้ผู้ต้องหานำชี้ก็ได้ และป้องกันมิให้ผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าไปในที่นำชี้ และให้พึงระมัดระวังการใช้ถ้อยคำ หรือกิริยาทางท่าทางที่เห็นว่าเป็นการข่มขู่หรือการปฏิบัติการที่ไม่สมควรแก่ผู้ต้องหา
             ไม่ว่ากรณีใดก็ตาม ห้ามมิให้ผู้ต้องหาที่เป็นเด็กอายุไม่เกินสิบแปดปีบริบูรณ์ไปชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพเพราะจะเป็นการประจานเด็ก และอาจเป็นการกระทำผิดตามกฎหมายเกี่ยวกับเด็ก รวมทั้งห้ามมิให้นำผู้ต้องหาไปขอขมาศพหรือบิดา มารดา สามี ภรรยา ญาติ มิตรสหายหรือผู้ปกครองของผู้ตาย นอกจากนี้ ห้ามนำผู้เสียหาย พยาน เข้าร่วมในการนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพของผู้ต้องหาเป็นอันขาด โดยเฉพาะผู้เสียหายที่เป็นเด็ก สตรี พระภิกษุ สามเณร นักพรต นักบวช