วันเสาร์ที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

การดำเนินคดีเด็กอายุไม่เกินสิบปี

      พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.๒๕๕๓

              มาตรา ๗๗  ในระหว่างการสอบสวน  หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับอายุของเด็ก ที่ถูกจับกุมหรือควบคุม ให้พนักงานสอบสวน มีอำนาจดำเนินการสอบสวน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง  แต่หากปรากฏภายหลังว่า เด็กนั้นมีอายุไม่เกินสิบปีในขณะกระทำความผิด และเด็กอยู่ในความควบคุมของสถานพินิจหรือองค์การอื่นใด ให้สถานพินิจหรือองค์การดังกล่าว รายงานให้ศาลทราบ เพื่อให้ศาลมีคำสั่งปล่อยตัวเด็ก และดำเนินการต่อไปตามที่กำหนดไว้ดังต่อไปนี้ โดยอนุโลม 
                หากปรากฏเป็นที่แน่ชัดว่า เด็กซึ่งถูกจับกุมหรือควบคุมนั้นในขณะกระทำความผิด อายุไม่เกินสิบปีบริบูรณ์ ให้ดำเนินการต่อไป ดังนี้ 
                (๑)  ให้พนักงานสอบสวน ดำเนินการสอบสวนไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เมื่อสอบสวนเสร็จแล้ว ให้พนักงานสอบสวนทำความเห็นว่า เด็กนั้น ได้กระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหา หรือ  ไม่ได้กระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหา หรือ  พยานหลักฐานรับฟังไม่ได้ว่าเด็กกระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหา  ส่งไปยังพนักงานอัยการพร้อมด้วยสำนวนในระหว่างการสอบสวน 
                ให้พนักงานสอบสวนมอบตัวเด็กให้อยู่ในความปกครองดูแลของบิดา มารดา ผู้ปกครอง หรือบุคคลหรือองค์การ ซึ่งเด็กอาศัยอยู่ด้วย  ในกรณีที่เด็กไม่มีบิดา มารดา ผู้ปกครอง บุคคลหรือองค์การดังกล่าว ให้ส่งตัวเด็กไปยังพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองเด็ก  ในโอกาสแรกที่กระทำได้ แต่ต้องภายในเวลาไม่เกินยี่สิบสี่ชั่วโมงนับแต่เวลาที่เด็กนั้นมาถึงสถานที่ทำการของพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ
                (๒)  ถ้าพนักงานอัยการเห็นชอบด้วยว่า  เด็กไม่ได้กระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหา หรือ  พยานหลักฐานรับฟังไม่ได้ว่าเด็กกระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหา  ให้พนักงานสอบสวนแจ้ง  บิดามารดา ผู้ปกครองหรือองค์การซึ่งเด็กอาศัยอยู่ด้วย หรือ  พนักงานเจ้าหน้าที่ แล้วแต่กรณี  ทราบในโอกาสแรกที่กระทำได้แต่ต้องภายในเวลาไม่เกินสิบห้าวันนับแต่วันที่รับทราบความเห็นของพนักงานอัยการ
                หากพนักงานอัยการเห็นว่า  เด็กนั้นได้กระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหา  ให้พนักงานสอบสวนส่งตัวเด็กไปยังพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองเด็ก  ในโอกาสแรกที่กระทำได้แต่ต้องภายในเวลาไม่เกินสิบห้าวันนับแต่วันที่รับทราบความเห็นของพนักงานอัยการ เพื่อดำเนินการต่อไปตามกฎหมายดังกล่าว ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสำคัญ
----------------------------------------------------------------------------------------------
บันทึกข้อความ

ส่วนราชการ    ตร.                                              โทร. ๐๒๒๐๕๓๔๘๖ โทรสาร ๐๒๒๕๑๒๖๖๒ 
ที่   ๐๐๑.๒๕/ ๓๓๙๔                                           วันที่ ๒๖ สิงหาคม ๒๕๕๓  
เรื่อง   กำชับการปฏิบัติหน้าที่กรณีการสอบสวนคดีที่ผู้ต้องหาเป็นเด็กอายุยังไม่เกินสิบปี (เพิ่มเติม)

ผบช.น. , ภ.๑ - ๙ , ศชต. , ก. , ปส.  และ สตม. 

              ตามหนังสือ ตร.ที่ ๐๐๑๑.๒๕/๖๘๗๗ ลง ๒๐ พ.ย.๒๕๕๒ แจ้งแนวทางปฏิบัติในการสอบสวนคดีที่ผู้ต้องหาเป็นเด็กอายุไม่เกินสิบปี ซึ่งตาม ป.อาญา มาตรา ๗๓ วรรคแรก บัญญัติว่า เด็กอายุยังไม่เกินสิบปี กระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด เด็กนั้นไม่ต้องรับโทษ 
              เนื่องจากมีหน่วยงานหารือแนวทางปฏิบัติตามหนังสือข้างต้น จึงเห็นว่า มีประเด็นที่ควรกำหนดแนวทางปฏิบัติเพิ่มเติมเพื่อให้การปฏิบัติเป็นไปโดยถูกต้องตามกฎหมายและเกิดความชัดเจนยิ่งขึ้น ดังนี้
              ๑. การสอบสวนคดีที่ผู้ต้องหาเป็นเด็กอายุยังไม่เกินสิบปี หากการสอบสวนพยานหลักฐานรับฟังได้ว่าเด็กนั้นกระทำผิด พนักงานสอบสวนจะทำความเห็นทางคดีว่า ควรสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหา โดยจะต้องปรับบทตาม ป.อ. มาตรา ๗๓ วรรคแรก หรือปรับบทตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๓๙ (๗) นั้น 
              เห็นว่า ตาม ป.อ. มาตรา ๗๓ วรรคแรก เป็นบทบัญญัติที่ไม่เอาโทษเด็กผู้กระทำผิดมาตั้งแต่ต้น มิใช่เป็นกรณีที่กฎหมายบัญญัติยกเว้นโทษ การปรับบทกฎหมายที่ถูกต้องตรงตามหลักวิชาการ ต้องปรับบทตาม ป.อ. มาตรา ๗๓ วรรคแรก 
              ๒. กรณีตามระเบียบคณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติ ว่าด้วยวิธีการคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กที่ต้องหาว่ากระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิดและอายุยังไม่ถึงเกณฑ์ต้องรับโทษทางอาญา พ.ศ.๒๕๕๑ ข้อ ๓ (๑) กำหนดให้พนักงานสอบสวนทำความเห็นว่าเด็กได้กระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหาหรือไม่ได้กระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหาเท่านั้น หรืออีกนัยหนึ่งคือ ให้พิจารณาพยานหลักฐานไปตามหลักวิชาว่า พยานหลักฐานเชื่อว่าเด็กได้กระทำความผิดหรือไม่ มาตราใด ด้วยพยานหลักฐานใด ทั้งนี้ เพื่อประกอบการพิจารณาของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในอันที่จะได้รู้ถึงข้อเท็จจริงหรือสาเหตุของการกระทำ และจะได้กำหนดวิธีปฏิบัติในการคุ้มครองสวัสดิภาพของเด็กนั้นได้ถูกต้อง หาได้เป็นระเบียบที่บังคับหรือผูกพันให้ต้องทำความเห็นทางคดีเป็นอย่างอื่นนอกจากที่บัญญัติไว้ในข้อ ๑ ไม่ พนักงานสอบสวนจึงชอบที่จะทำความเห็นทางคดีไปดังที่กล่าวไว้ในข้อ ๑    
             จึงแจ้งมาเพื่อทราบ และแจ้งให้พนักงานสอบสวนทราบ ถือปฏิบัติต่อไป 

                                                                           พล.ต.อ.ปานศิริ  ประภาวัต
                                                                             รอง ผบ.ตร.ปรท.ผบ.ตร.

วันศุกร์ที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

การควบคุมและขอผัดฟ้องฝากขังเด็ก

พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.๒๕๕๓

               "มาตรา ๖๙  ในการจับกุมเด็กหรือเยาวชนซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิด ให้เจ้าพนักงานผู้จับแจ้งแก่เด็กหรือเยาวชนนั้นว่าเขาต้องถูกจับ และแจ้งข้อกล่าวหารวมทั้งสิทธิตามกฎหมายให้ทราบ หากมีหมายจับให้แสดงต่อผู้ถูกจับ แล้วนำตัวผู้ถูกจับไปยังที่ทำการของพนักงานสอบสวนแห่งท้องที่ที่ถูกจับทันที เพื่อให้พนักงานสอบสวนของท้องที่ดังกล่าวส่งตัวผู้ถูกจับไปยังที่ทำการของพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบโดยเร็ว
                 ถ้าขณะจับกุมมีบิดา มารดา ผู้ปกครอง บุคคลหรือผู้แทนองค์การซึ่งเด็กหรือเยาวชนอาศัยอยู่ด้วย อยู่ด้วยในขณะนั้น ให้เจ้าพนักงานผู้จับแจ้งเหตุแห่งการจับให้บุคคลดังกล่าวทราบ และในกรณีความผิดอาญาซึ่งมีอัตราโทษอย่างสูงตามที่กฎหมายกำหนดไว้ให้จำคุกไม่เกินห้าปี เจ้าพนักงานผู้จับจะสั่งให้บุคคลดังกล่าวเป็นผู้นำตัวเด็กหรือเยาวชนนั้นไปยังที่ทำการของพนักงานสอบสวนตามวรรคหนึ่งก็ได้ แต่ถ้าในขณะนั้นไม่มีบุคคลดังกล่าวอยู่กับผู้ถูกจับ ให้เจ้าพนักงานผู้จับแจ้งให้บุคคลดังกล่าวคนใดคนหนึ่งทราบถึงการจับกุมในโอกาสแรกเท่าที่สามารถกระทำได้ และหากผู้ถูกจับประสงค์จะติดต่อสื่อสารหรือปรึกษาหารือกับบุคคลเหล่านั้น ซึ่งไม่เป็นอุปสรรคต่อการจับกุมและอยู่ในวิสัยที่จะดำเนินการได้ ให้เจ้าพนักงานผู้จับดำเนินการให้ตามควรแก่กรณีโดยไม่ชักช้า
                ในการจับกุมและควบคุมเด็กหรือเยาวชนต้องกระทำโดยละมุนละม่อม โดยคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และไม่เป็นการประจานเด็กหรือเยาวชน และห้ามมิให้ใช้วิธีการควบคุมเกินกว่าที่จำเป็นเพื่อป้องกันการหลบหนีหรือเพื่อความปลอดภัยของเด็กหรือเยาวชนผู้ถูกจับหรือบุคคลอื่น รวมทั้งมิให้ใช้เครื่องพันธนาการแก่เด็กไม่ว่ากรณีใด ๆ เว้นแต่มีความจำเป็นอย่างยิ่งอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้เพื่อป้องกันการหลบหนีหรือเพื่อความปลอดภัยของเด็กผู้ถูกจับหรือบุคคลอื่น
                 ก่อนส่งตัวผู้ถูกจับให้พนักงานสอบสวนแห่งท้องที่ที่ถูกจับ ให้เจ้าพนักงานผู้จับทำบันทึกการจับกุม โดยแจ้งข้อกล่าวหาและรายละเอียดเกี่ยวกับเหตุแห่งการจับให้ผู้ถูกจับทราบ ทั้งนี้ ห้ามมิให้ถามคำให้การผู้ถูกจับ ถ้าขณะทำบันทึกดังกล่าวมีบิดา มารดา ผู้ปกครอง หรือบุคคลหรือผู้แทนองค์การซึ่งเด็กหรือเยาวชนอาศัยอยู่ด้วย อยู่ด้วยในขณะนั้น ต้องกระทำต่อหน้าบุคคลดังกล่าวและจะให้ลงลายมือชื่อเป็นพยานด้วยก็ได้ ถ้อยคำของเด็กหรือเยาวชนในชั้นจับกุมมิให้ศาลรับฟังเป็นพยานเพื่อพิสูจน์ความผิดของเด็กหรือเยาวชน แต่ศาลอาจนำมาฟังเป็นคุณแก่เด็กหรือเยาวชนได้"
               "มาตรา ๗๐  เมื่อพนักงานสอบสวนได้รับตัวเด็กหรือเยาวชนซึ่งถูกจับ หรือเด็กหรือเยาวชนซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดถูกเรียกมา ส่งตัวมา เข้าหาพนักงานสอบสวนเอง มาปรากฏตัวอยู่ต่อหน้าพนักงานสอบสวน หรือมีผู้นำตัวเด็กหรือเยาวชนนั้นเข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวน และคดีนั้นเป็นคดีที่ต้องพิจารณาพิพากษาในศาลเยาวชนและครอบครัว ให้พนักงานสอบสวนรีบสอบถามเด็กหรือเยาวชนในเบื้องต้นเพื่อทราบชื่อตัว ชื่อสกุล อายุ สัญชาติ ถิ่นที่อยู่ สถานที่เกิดและอาชีพของเด็กหรือเยาวชน ตลอดจนชื่อตัว ชื่อสกุล และรายละเอียดเกี่ยวกับบิดา มารดา ผู้ปกครอง บุคคลหรือองค์การซึ่งเด็กหรือเยาวชนอาศัยอยู่ด้วย แล้วแจ้งข้อกล่าวหาให้บุคคลดังกล่าวทราบ และแจ้งให้ผู้อำนวยการสถานพินิจที่เด็กหรือเยาวชนนั้นอยู่ในเขตอำนาจ เพื่อดำเนินการตามมาตรา ๘๒
                  การสอบถามเบื้องต้นตามวรรคหนึ่ง ให้กระทำในสถานที่ที่เหมาะสม โดยไม่เลือกปฏิบัติและไม่ปะปนกับผู้ต้องหาอื่นหรือมีบุคคลอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องอยู่ในสถานที่นั้นอันมีลักษณะเป็นการประจานเด็กหรือเยาวชน ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงอายุ เพศ สภาวะของเด็กหรือเยาวชนเป็นสำคัญ และต้องใช้ภาษาหรือถ้อยคำที่ทำให้เด็กหรือเยาวชนสามารถเข้าใจได้โดยง่าย โดยคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ถ้าเด็กหรือเยาวชนไม่สามารถสื่อสารหรือไม่เข้าใจภาษาไทยก็ให้จัดหาล่ามให้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาหรือจัดหาเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกหรือความช่วยเหลืออื่นใดให้ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ หากเด็กหรือเยาวชนประสงค์จะติดต่อสื่อสารหรือปรึกษาหารือกับบิดา มารดา ผู้ปกครอง บุคคลหรือผู้แทนองค์การซึ่งเด็กหรือเยาวชนอาศัยอยู่ด้วยและอยู่ในวิสัยที่จะดำเนินการได้ ให้พนักงานสอบสวนดำเนินการให้ตามควรแก่กรณีโดยไม่ชักช้า"

               "มาตรา ๗๘  เมื่อมีการจับกุมเด็กหรือเยาวชนซึ่งต้องหาว่า กระทำความผิดตามมาตรา ๖๙ วรรคหนึ่ง หรือกรณีเด็กหรือเยาวชนปรากฏตัวอยู่ต่อหน้าพนักงานสอบสวนตามมาตรา ๗๐ วรรคหนึ่ง  ให้พนักงานสอบสวนรีบดำเนินการสอบสวน และส่งสำนวนการสอบสวนพร้อมทั้งความเห็นไปยังพนักงานอัยการ เพื่อให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องต่อศาลเยาวชนและครอบครัว ให้ทันภายในสามสิบวันนับแต่วันที่เด็กหรือเยาวชนนั้นถูกจับกุม หรือปรากฏตัวอยู่ต่อหน้าพนักงานสอบสวน แล้วแต่กรณี
                    ในกรณีความผิดอาญาที่มีอัตราโทษอย่างสูงตามที่กฎหมายกำหนดไว้ให้จำคุกเกินหกเดือนแต่ไม่เกินห้าปี ไม่ว่าจะมีโทษปรับด้วยหรือไม่ก็ตาม หากเกิดความจำเป็นไม่สามารถฟ้องเด็กหรือเยาวชนนั้นต่อศาลได้ทันภายในระยะเวลาดังกล่าว ให้พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการแล้วแต่กรณี ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอผัดฟ้องต่อไปได้อีกครั้งละไม่เกินสิบห้าวัน แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินสองครั้ง
                    ในกรณีความผิดอาญาที่มีอัตราโทษอย่างสูงตามที่กฎหมายกำหนดไว้ให้จำคุกเกินห้าปี ไม่ว่าจะมีโทษปรับด้วยหรือไม่ก็ตาม เมื่อศาลสั่งอนุญาตให้ผัดฟ้องครบสองครั้งแล้ว หากพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอผัดฟ้องต่อไปอีก โดยอ้างเหตุจำเป็น ศาลจะอนุญาตตามคำขอนั้นได้ต่อเมื่อพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการได้แสดงถึงเหตุจำเป็นและนำพยานมาเบิกความประกอบจนเป็นที่พอใจแก่ศาล ในกรณีเช่นว่านี้ศาลมีอำนาจสั่งอนุญาตให้ผัดฟ้องต่อไปได้อีกครั้งละไม่เกินสิบห้าวัน แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินสองครั้ง
                    การผัดฟ้องดังกล่าว ให้พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบมีอำนาจผัดฟ้อง ต่อศาลที่พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบอยู่ในเขตอำนาจศาลนั้นได้
                    ในการพิจารณาคำร้องขอผัดฟ้อง ถ้าเด็กหรือเยาวชนซึ่งเป็นผู้ต้องหา ยังไม่มีที่ปรึกษากฎหมาย ให้ศาลแต่งตั้งให้ เพื่อแถลงข้อคัดค้านหรือซักถามพยาน"

                  "มาตรา ๗๙  ในกรณีที่เด็กหรือเยาวชนผู้ต้องหา หลบหนีจากการควบคุมในระหว่างสอบสวน มิให้นับระยะเวลาที่หลบหนีนั้นรวมเข้าในกำหนดระยะเวลาตามมาตรา ๗๘"

                  "มาตรา ๘๐  ห้ามมิให้พนักงานอัยการฟ้องคดี เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาตามมาตรา ๗๘ เว้นแต่ จะได้รับอนุญาตจากอัยการสูงสุด"

เมื่อ พงส. รับตัวเด็กมาสอบปากคำ

พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.๒๕๕๓

               มาตรา ๗๐  เมื่อพนักงานสอบสวน ได้รับตัว
                   -  เด็กหรือเยาวชนซึ่งถูกจับ หรือ
                   -  เด็กหรือเยาวชนซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิด ถูกเรียกมา ส่งตัวมา เข้าหาพนักงานสอบสวนเอง มาปรากฏตัวอยู่ต่อหน้าพนักงานสอบสวน หรือ
                   -  มีผู้นำตัวเด็กหรือเยาวชนนั้น เข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวน
             => และคดีนั้น เป็นคดีที่ต้องพิจารณาพิพากษาในศาลเยาวชนและครอบครัว
ให้รีบสอบถามเบื้องต้น
                   ให้พนักงานสอบสวน
                    -  รีบสอบถามเด็กหรือเยาวชนในเบื้องต้น เพื่อทราบ ชื่อตัว ชื่อสกุล อายุ สัญชาติ ถิ่นที่อยู่ สถานที่เกิด และอาชีพของเด็กหรือเยาวชน ตลอดจนชื่อตัว ชื่อสกุล และรายละเอียดเกี่ยวกับบิดา มารดา ผู้ปกครอง บุคคลหรือองค์การซึ่งเด็กหรือเยาวชนอาศัยอยู่ด้วย แล้ว
                    -  แจ้งข้อกล่าวหาให้บุคคลดังกล่าว (บิดา มารดา ฯลฯ) ทราบ และแจ้งให้ผู้อำนวยการสถานพินิจที่เด็กหรือเยาวชนนั้นอยู่ในเขตอำนาจ เพื่อดำเนินการตามมาตรา ๘๒
สถานที่สอบถามเด็ก  (วรรคสอง)
                   การสอบถามเบื้องต้น ให้พนักงานสอบสวน
                    -  กระทำในสถานที่ที่เหมาะสม โดยไม่เลือกปฏิบัติ และ
                    -  ไม่ปะปนกับผู้ต้องหาอื่น หรือมีบุคคลอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องอยู่ในสถานที่นั้น อันมีลักษณะเป็นการประจานเด็กหรือเยาวชน
                    -  ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงอายุ เพศ สภาวะของเด็กหรือเยาวชนเป็นสำคัญ และ
                    -  ต้องใช้ภาษา หรือถ้อยคำ ที่ทำให้เด็กหรือเยาวชนสามารถเข้าใจได้โดยง่าย โดยคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
                    -  ถ้าเด็กหรือเยาวชนไม่สามารถสื่อสารหรือไม่เข้าใจภาษาไทย ก็ให้จัดหาล่ามให้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา หรือจัดหาเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก หรือความช่วยเหลืออื่นใดให้ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
                     -  หากเด็กหรือเยาวชนประสงค์จะติดต่อสื่อสารหรือปรึกษาหารือกับบิดา มารดา ผู้ปกครอง บุคคลหรือผู้แทนองค์การซึ่งเด็กหรือเยาวชนอาศัยอยู่ด้วย และอยู่ในวิสัยที่จะดำเนินการได้ ให้พนักงานสอบสวนดำเนินการให้ตามควรแก่กรณีโดยไม่ชักช้า
นำ ป.วิ.อ. ม.๑๓๔ มาใช้
                 มาตรา ๗๑  เมื่อได้สอบถามเบื้องต้นและแจ้งข้อกล่าวหาตามมาตรา ๗๐ แล้ว
                     -  ในกรณีที่เด็กหรือเยาวชนถูกเรียกมา ส่งตัวมา เข้าหาพนักงานสอบสวนเอง มาปรากฏตัวอยู่ต่อหน้าพนักงานสอบสวน หรือ
                     -  มีผู้นำตัวเด็กหรือเยาวชนนั้นเข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวน
                     =>  ให้พนักงานสอบสวนดำเนินการตามมาตรา ๑๓๔ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา โดยอนุโลม  (คลิกดูที่นี่)

การจับกุมเด็ก

   พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.๒๕๕๓

                 การจับกุม
                 มาตรา ๖๖  ห้ามมิให้จับกุมเด็ก(บุคคลอายุยังไม่เกินสิบห้าปีบริบูรณ์) ซึ่งต้องหาว่ากระทําความผิด  เว้นแต่ 
                      -  เด็กนั้นได้กระทําความผิดซึ่งหน้า หรือ
                      -  มีหมายจับหรือคําสั่งของศาล 
                  การจับกุมเยาวชน(บุคคลอายุเกินสิบห้าปีบริบูรณ์แต่ยังไม่ถึงสิบแปดปีบริบูรณ์) ซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิด ให้เป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (คลิกดูที่นี่)
                 การออกหมายจับ
                 มาตรา ๖๗  การพิจารณาออกหมายจับเด็กหรือเยาวชนซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิด นอกจากต้องอยู่ภายใต้บังคับมาตรา ๖๖ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาแล้ว ให้ศาลคำนึงถึงการคุ้มครองสิทธิเด็กหรือเยาวชนเป็นสำคัญ โดยเฉพาะในเรื่องอายุ เพศ และอนาคตของเด็กหรือเยาวชนที่พึงได้รับการพัฒนาและปกป้องคุ้มครอง หากการออกหมายจับจะมีผลกระทบกระเทือนต่อจิตใจของเด็กหรือเยาวชนอย่างรุนแรงโดยไม่จำเป็น ให้พยายามเลี่ยงการออกหมายจับ โดยใช้วิธีติดตามตัวเด็กหรือเยาวชนนั้นด้วยวิธีอื่นก่อน
                  แจ้งสิทธิให้เด็กทราบ
                  มาตรา ๖๙  ในการจับกุมเด็กหรือเยาวชนซึ่งต้องหาว่ากระทําความผิด ให้เจ้าพนักงานผู้จับ 
                      -  แจ้งแก่เด็กหรือเยาวชนนั้นว่าเขาต้องถูกจับ และ
                      -  แจ้งข้อกล่าวหา รวมทั้งสิทธิตามกฎหมายให้ทราบ 
                      -  หากมีหมายจับให้แสดงต่อผู้ถูกจับ 
                      -  แล้วนําตัวผู้ถูกจับไปยังที่ทําการของพนักงานสอบสวนแห่งท้องที่ที่ถูกจับทันที เพื่อให้พนักงานสอบสวนของท้องที่ดังกล่าวส่งตัวผู้ถูกจับไปยังที่ทําการของพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบโดยเร็ว
                    แจ้งให้ปกครองทราบการจับ
                    ถ้าขณะจับกุมมีบิดา มารดา ผู้ปกครอง บุคคลหรือผู้แทนองค์การซึ่งเด็กหรือเยาวชนอาศัยอยู่ด้วย ในขณะนั้น ให้เจ้าพนักงานผู้จับ
                        -  แจ้งเหตุแห่งการจับให้บุคคลดังกล่าวทราบ และ
                        -  ในกรณีความผิดอาญาซึ่งมีอัตราโทษอย่างสูงตามที่กฎหมายกําหนดไว้ให้จําคุกไม่เกินห้าปีเจ้าพนักงานผู้จับจะสั่งให้บุคคลดังกล่าวเป็นผู้นําตัวเด็กหรือเยาวชนนั้นไปยังที่ทําการของพนักงานสอบสวนตามวรรคหนึ่งก็ได้ 
                    ถ้าในขณะนั้นไม่มีบุคคลดังกล่าวอยู่กับผู้ถูกจับ ให้เจ้าพนักงานผู้จับ
                       -  แจ้งให้บุคคลดังกล่าวคนใดคนหนึ่งทราบถึงการจับกุมในโอกาสแรกเท่าที่สามารถกระทําได้ และ
                       -  หากผู้ถูกจับประสงค์จะติดต่อสื่อสารหรือปรึกษาหารือกับบุคคลเหล่านั้น ซึ่งไม่เป็นอุปสรรคต่อการจับกุมและอยู่ในวิสัยที่จะดําเนินการได้ ให้เจ้าพนักงานผู้จับดําเนินการให้ตามควรแก่กรณี โดยไม่ชักช้า 
                    วิธีการจับกุมและควบคุม
                    ในการจับกุมและควบคุมเด็กหรือเยาวชนต้องกระทํา
                       -  โดยละมุนละม่อม 
                       -  โดยคํานึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และ 
                       -  ไม่เป็นการประจานเด็กหรือเยาวชน และ 
                       -  ห้ามมิให้ใช้วิธีการควบคุมเกินกว่าที่จําเป็น เพื่อป้องกันการหลบหนี หรือเพื่อความปลอดภัยของเด็กหรือเยาวชนผู้ถูกจับ หรือบุคคลอื่น รวมทั้ง
                       -  มิให้ใช้เครื่องพันธนาการแก่เด็กไม่ว่ากรณีใด ๆ เว้นแต่ มีความจําเป็นอย่างยิ่งอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ เพื่อป้องกันการหลบหนีหรือเพื่อความปลอดภัยของเด็กผู้ถูกจับหรือบุคคลอื่น
                     ก่อนส่งตัวให้ พงส.
                     ก่อนส่งตัวผู้ถูกจับให้พนักงานสอบสวนแห่งท้องที่ที่ถูกจับ ให้เจ้าพนักงานผู้จับ
                        -  ทําบันทึกการจับกุม โดยแจ้งข้อกล่าวหาและรายละเอียดเกี่ยวกับเหตุแห่งการจับให้ผู้ถูกจับทราบ ทั้งนี้ 
                        -  ห้ามมิให้ถามคําให้การผู้ถูกจับ 
                        -  ถ้าขณะทําบันทึกดังกล่าว มีบิดา มารดา ผู้ปกครอง หรือบุคคลหรือผู้แทนองค์การซึ่งเด็กหรือเยาวชนอาศัยอยู่ด้วยในขณะนั้น ต้องกระทําต่อหน้าบุคคลดังกล่าว และจะให้ลงลายมือชื่อเป็นพยานด้วยก็ได้ 
                        -  ถ้อยคําของเด็กหรือเยาวชนในชั้นจับกุม มิให้ศาลรับฟังเป็นพยานเพื่อพิสูจน์ความผิดของเด็กหรือเยาวชน แต่ศาลอาจนํามาฟังเป็นคุณแก่เด็กหรือเยาวชนได้    
                     ห้ามถ่ายภาพเด็ก
                     (มาตรา ๗๖) เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิเด็กหรือเยาวชนซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิด ห้ามมิให้เจ้าพนักงานผู้จับกุมเด็กหรือเยาวชน หรือพนักงานสอบสวน จัดให้มี หรืออนุญาตให้มี หรือยินยอม ให้มีการถ่ายภาพ หรือบันทึกภาพเด็กหรือเยาวชน ซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิด เว้นแต่เพื่อประโยชน์ในการสอบสวน

วันพฤหัสบดีที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

เรื่องของอายุเด็ก

ประมวลกฎหมายอาญา
             "มาตรา ๗๓  เด็กอายุไม่เกินสิบปี กระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด เด็กนั้นไม่ต้องรับโทษ"
             "มาตรา ๗๔  เด็กอายุกว่าสิบปี แต่ยังไม่เกินสิบห้าปี กระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด เด็กนั้นไม่ต้องรับโทษ แต่ให้ศาลมีอำนาจที่จะดำเนินการดังต่อไปนี้  ...  "
             "มาตรา ๒๘๓ ทวิ  ผู้ใดพาบุคคลอายุเกินสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเพื่อการอนาจาร แม้ผู้นั้นจะยินยอมก็ตาม ..."

พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.๒๕๕๓
          มาตรา ๔  
             “เด็ก” หมายความว่า บุคคลอายุยังไม่เกินสิบห้าปีบริบูรณ์
             “เยาวชน” หมายความว่า บุคคลอายุเกินสิบห้าปีบริบูรณ์ แต่ยังไม่ถึงสิบแปดปีบริบูรณ์
          มาตรา ๕  คดีอาญาที่มีข้อหาว่าเด็กหรือเยาวชนกระทำความผิด ให้ถืออายุเด็กหรือเยาวชนนั้น ในวันที่การกระทำความผิดได้เกิดขึ้น

พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.๒๕๔๖
             มาตรา ๔
             “เด็ก” หมายความว่า บุคคลซึ่งมีอายุต่ำกว่าสิบแปดปีบริบูรณ์ แต่ไม่รวมถึงผู้ที่บรรลุนิติภาวะด้วยการสมรส

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
             "มาตรา ๑๓๓ ทวิ  ในคดีความผิดเกี่ยวกับเพศ ความผิดเกี่ยวกับชีวิตและร่างกายอันมิใช่ความผิดที่เกิดจากการชุลมุนต่อสู้ ความผิดเกี่ยวกับเสรีภาพ ความผิดฐานกรรโชก ชิงทรัพย์และปล้นทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้าหญิงและเด็ก ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยสถานบริการ หรือคดีความผิดอื่นที่มีอัตราโทษจำคุก ซึ่งผู้เสียหายหรือพยานที่เป็นเด็กอายุไม่เกินสิบแปดปี ให้พนักงานสอบสวนแยกกระทำเป็นส่วนสัดในสถานที่ที่เหมาะสมสำหรับเด็ก และให้มีนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ บุคคลที่เด็กร้องขอและพนักงานอัยการร่วมอยู่ด้วยในการถามปากคำเด็กนั้น ฯลฯ
             "มาตรา ๑๓๔/๒   ให้นำบทบัญญัติในมาตรา ๑๓๓ ทวิ มาใช้บังคับโดยอนุโลมแก่การสอบสวนผู้ต้องหาที่เป็นเด็กอายุไม่เกินสิบแปดปี
              ในคดีที่มีอัตราโทษประหารชีวิต หรือในคดีที่ผู้ต้องหามีอายุไม่เกินสิบแปดปีในวันที่พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหา ก่อนเริ่มถามคำให้การให้พนักงานสอบสวนถามผู้ต้องหาว่ามีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มีให้รัฐจัดหาทนายความให้
              ในคดีที่มีอัตราโทษจำคุก ก่อนเริ่มถามคำให้การให้พนักงานสอบสวนถามผู้ต้องหาว่ามีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มีและผู้ต้องหาต้องการทนายความ ให้รัฐจัดหาทนายความให้"

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
             "มาตรา ๑๙๓/๕  ถ้ากำหนดระยะเวลาเป็นสัปดาห์ เดือน หรือปี ให้คำนวนตามปีปฏิทิน
              ถ้าระยะเวลามิได้กำหนดนับแต่วันต้นแห่งสัปดาห์ วันต้นแห่งเดือนหรือปี ระยะเวลาย่อมสิ้นสุดลงในวันก่อนหน้าจะถึงวันแห่งสัปดาห์ เดือน หรือปีสุดท้ายอันเป็นวันตรงกับวันเริ่มระยะเวลานั้น ถ้าในระยะเวลานับเป็นเดือนหรือปีนั้นไม่มีวันตรงกันในเดือนสุดท้าย ให้ถือเอาวันสุดท้ายแห่งเดือนนั้นเป็นวันสิ้นสุดระยะเวลา"

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  ๗๘๔๑/๒๕๕๒
             ป.พ.พ. มาตรา ๑๖ บัญญัติว่า การนับอายุของบุคคลให้เริ่มนับแต่วันเกิด ผู้เสียหายที่ ๑ เกิดเมื่อวันที่ ๕ มีนาคม ๒๕๓๒ จึงต้องนับอายุแต่วันเกิดคือนับแต่วันที่ ๕ มีนาคม ๒๕๓๒ เป็นหนึ่งวันเต็ม ผู้เสียหายที่ ๑ จึงมีอายุ ๑๕ ปีบริบูรณ์ เมื่อวันที่ ๔ มีนาคม ๒๕๔๗ ตามนัยแห่ง ป.พ.พ. มาตรา ๑๙๓/๕ คดีได้ความว่า เหตุเกิดวันที่ ๕ มีนาคม ๒๕๔๗ เวลาประมาณ ๒ นาฬิกา ดังนั้นขณะเกิดเหตุผู้เสียหายที่ ๑ จึงมีอายุเกินกว่า ๑๕ ปีบริบูรณ์แล้ว กรณีจึงไม่เข้าองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา ๒๗๗ และ ๓๑๗
            (สรุป.- อายุคนให้เริ่มนับแต่วันที่เกิด ย่อมครบรอบปี ในวันก่อนหน้าจะถึงวันสุดท้ายอันเป็นวันตรงกับวันเริ่มระยะเวลานั้น)

การสืบพยานเด็ก ตามมาตรา ๑๗๒ ตรี

การสืบพยานเด็ก ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

               มาตรา ๑๗๒ ตรี  ในกรณีที่ไม่ได้ตัวพยานมาเบิกความ เพราะมีเหตุจำเป็นอย่างยิ่ง ให้ศาลรับฟังสื่อภาพและเสียงคำให้การของพยานนั้นในชั้นสอบสวนตามมาตรา ๑๓๓ ทวิ หรือชั้นไต่สวนมูลฟ้องตามมาตรา ๑๗๑ วรรคสอง เสมือนหนึ่งเป็นคำเบิกความของพยานนั้นในชั้นพิจารณาของศาล และให้ศาลรับฟังประกอบพยานอื่นในการพิจารณาพิพากษาคดีได้
                ก่อนการสืบพยาน  (ในกรณีได้ตัวพยานมาเบิกความ)
                     -  ถ้าศาลเห็นสมควร หรือ
                     -  ถ้าพยานที่เป็นเด็กอายุไม่เกินสิบแปดปีร้องขอโดยมีเหตุผลอันสมควร หรือ
                     -  คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งร้องขอโดยมีเหตุผลอันสมควร
                         =  ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้วเห็นว่าจะเป็นผลร้ายแก่เด็กถ้าไม่อนุญาตตามที่ร้องขอ
                 ให้ศาลจัดให้มีการถ่ายทอดภาพและเสียงคำให้การของผู้เสียหายหรือพยานที่เป็นเด็กอายุไม่เกินสิบแปดปีที่ได้บันทึกไว้ในชั้นสอบสวนตามมาตรา ๑๓๓ ทวิ หรือชั้นไต่สวนมูลฟ้องตามมาตรา ๑๗๑ วรรคสอง ต่อหน้าคู่ความ และ
                 ในกรณีเช่นนี้ให้ถือสื่อภาพและเสียงคำให้การของพยานดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของคำเบิกความของพยานนั้นในชั้นพิจารณาของศาล
                 โดยให้คู่ความถามพยานเพิ่มเติม ถามค้านหรือถามติงพยานได้ ทั้งนี้เท่าที่จำเป็นและภายในขอบเขตที่ศาลเห็นสมควร
                 ในการสืบพยานที่เป็นเด็กอายุไม่เกินสิบแปดปี
                    -  ให้ศาลจัดให้พยานอยู่ในสถานที่ที่เหมาะสมสำหรับเด็ก และ
                    -  ศาลอาจปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้
                        (๑) ศาลเป็นผู้ถามพยานเอง โดยแจ้งให้พยานนั้นทราบ ประเด็นและข้อเท็จจริงซึ่งต้องการสืบ แล้วให้พยานเบิกความในข้อนั้น ๆ หรือ ศาลจะถามผ่านนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ก็ได้
                        (๒) ให้คู่ความถาม ถามค้าน หรือถามติง ผ่านนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์      
                 ในการเบิกความของพยานดังกล่าว ให้มีการถ่ายทอดภาพและเสียงไปยังห้องพิจารณาด้วย และเป็นหน้าที่ของศาลที่จะต้องแจ้งให้นักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ทราบ
                 การปฏิบัติตามมาตรานี้ ให้ยกเว้นแต่ ในกรณีที่จำเลยอ้างตนเองเป็นพยาน
                มาตรา ๑๗๑ (วรรคสอง)  ให้นำบทบัญญัติในมาตรา ๑๓๓ ทวิ และมาตรา ๑๗๒ ตรี มาใช้บังคับโดยอนุโลมแก่การไต่สวนมูลฟ้องในคดีที่พยานเป็นเด็กอายุไม่เกินสิบแปดปี ทั้งในคดีที่ราษฎรเป็นโจทก์และในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10238/2550
                 โจทก์มีเวลาที่จะติดตามตัวผู้เสียหายมาเบิกความต่อศาลนับแต่วันฟ้องถึงวันนัดสืบพยานโจทก์เป็นเวลา 5 เดือนเศษ ระหว่างนั้นศาลชั้นต้นได้นัดพร้อม 2 ครั้ง เพื่อตรวจสอบผลการส่งหมายแก่พยาน โดยกำชับโจทก์ให้เร่งติดตามผู้เสียหายมาศาลในวันนัดให้ได้ แต่พนักงานสอบสวนแถลงต่อศาลลอย ๆ ในวันนัดสืบพยานโจทก์ว่า ยังไม่ทราบที่อยู่ที่แน่ชัดของผู้เสียหาย ดังนั้น การที่โจทก์ไม่ได้ตัวผู้เสียหายมาเบิกความ จึงยังถือไม่ได้ว่าเป็นกรณีที่มีเหตุจำเป็นอย่างยิ่ง ศาลจึงไม่สามารถรับฟังสื่อภาพและเสียงคำให้การของผู้เสียหายในชั้นสอบสวน เสมือนหนึ่งเป็นคำเบิกความของผู้เสียหายในชั้นพิจารณาของศาลตาม ป.วิ.อ. มาตรา 172 ตรี วรรคท้าย ได้ คงรับฟังได้ในฐานะพยานบอกเล่าตามธรรมดาเท่านั้น
                 แม้จะได้ความจากเทปบันทึกภาพและเสียงคำให้การและบันทึกคำให้การของผู้เสียหาย ซึ่งผู้เสียหายให้การไว้ในชั้นสอบสวนว่า ถูกจำเลยข่มขืนกระทำชำเราหลายครั้งตั้งแต่ผู้เสียหายอายุได้ 10 ปีก็ตาม แต่การสอบสวนดังกล่าวมิได้กระทำต่อหน้าจำเลย จำเลยไม่มีโอกาสถามค้านเพื่อให้ผู้เสียหายเบิกความถึงข้อเท็จจริงที่อาจเป็นการทำลายน้ำหนักพยานหลักฐานดังกล่าวของโจทก์ได้
                 ที่โจทก์ฎีกาอ้างว่าโจทก์มี ณ. เจ้าหน้าที่ศูนย์ดำรงธรรม จังหวัดพังงา มาเบิกความยืนยันว่าผู้เสียหายเล่าข้อเท็จจริงให้ฟังสอดคล้องกับคำให้การของผู้เสียหาย ก็เห็นได้ชัดว่า ณ. ได้รับการบอกเล่ามาจากผู้เสียหายอีกทีหนึ่ง คำเบิกความของ ณ. จึงไม่ทำให้พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด
                 เมื่อผู้เสียหายสมัครใจที่จะดำเนินคดีแก่จำเลย ผู้เสียหายก็น่าจะมาเบิกความต่อศาลให้เป็นที่สิ้นสงสัยว่าจำเลยได้กระทำความผิดตามที่ผู้เสียหายกล่าวหาจริง การที่โจทก์ไม่ได้ตัวผู้เสียหายมาเบิกความต่อศาล จึงทำให้พยานโจทก์ยังตกอยู่ในความสงสัยว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องจริงหรือไม่

การถามปากคำเด็ก ตามมาตรา ๑๓๓ ทวิ

               มาตรา ๑๓๓ ทวิ  การถามปากคำผู้เสียหายหรือพยานที่เป็นเด็กอายุไม่เกินสิบแปดปี ในคดีดังต่อไปนี้
                     ๑. ความผิดเกี่ยวกับเพศ
                     ๒. ความผิดเกี่ยวกับชีวิตและร่างกายอันมิใช่ความผิดที่เกิดจากการชุลมุนต่อสู้
                     ๓. ความผิดเกี่ยวกับเสรีภาพ
                     ๔. ความผิดฐานกรรโชก
                     ๕. ชิงทรัพย์ และปล้นทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา
                     ๖. ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี
                     ๗. ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยมาตรการในการป้องกันและปราบปรามการค้าหญิงและเด็ก (ฐานค้ามนุษย์)
                     ๘. ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยสถานบริการ หรือ
                     ๙. คดีความผิดอื่นที่มีอัตราโทษจำคุก ซึ่งผู้เสียหายหรือพยานที่เป็นเด็กอายุไม่เกินสิบแปดปีร้องขอ (ทุกคดีที่มีโทษจำคุก)
                ให้พนักงานสอบสวน มีหน้าที่ดังนี้
                     -  แยกกระทำเป็นส่วนสัดในสถานที่ที่เหมาะสมสำหรับเด็ก และ
                     -  ให้มีนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ บุคคลที่เด็กร้องขอ และพนักงานอัยการร่วมอยู่ด้วยในการถามปากคำเด็กนั้น และ
                     -  ในกรณีที่นักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์เห็นว่า การถามปากคำเด็กคนใด หรือคำถามใด อาจจะมีผลกระทบกระเทือนต่อจิตใจเด็กอย่างรุนแรง ให้พนักงานสอบสวนถามผ่านนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์เป็นการเฉพาะตามประเด็นคำถามของพนักงานสอบสวน โดยมิให้เด็กได้ยินคำถามของพนักงานสอบสวน และห้ามมิให้ถามเด็กซ้ำซ้อนหลายครั้งโดยไม่มีเหตุอันสมควร
                    -  ให้เป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนที่จะต้องแจ้งให้นักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ บุคคลที่เด็กร้องขอ และพนักงานอัยการทราบ แจ้งให้ผู้เสียหายหรือพยานที่เป็นเด็กทราบถึงสิทธิตามวรรคหนึ่งด้วย  (วรรคสอง)
                นักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ หรือพนักงานอัยการ ที่เข้าร่วมในการถามปากคำ อาจถูกผู้เสียหายหรือพยานซึ่งเป็นเด็กตั้งรังเกียจได้ หากมีกรณีดังกล่าวให้เปลี่ยนตัวผู้นั้น   (วรรคสาม)
                ภายใต้บังคับแห่งมาตรา ๑๓๙  (ให้พนักงานสอบสวนบันทึกการสอบสวนตามหลักทั่วไปในประมวลกฎหมายนี้อันว่าด้วยการสอบสวนและให้เอาบันทึก เอกสารอื่นซึ่งได้มา อีกทั้งบันทึกเอกสารทั้งหลายซึ่งเจ้าพนักงานอื่นผู้สอบสวนคดีเดียวกันนั้นส่งมารวมเข้าสำนวนไว้ เอกสารที่ยื่นเป็นพยานให้รวมเข้าสำนวน ถ้าเป็นสิ่งของอย่างอื่นให้ทำบัญชีรายละเอียดรวมเข้าสำนวนไว้ เพื่อประโยชน์ในการติดตามพยานให้ไปตามกำหนดนัดของศาล ให้พนักงานสอบสวนบันทึกรายชื่อของพยานบุคคลทั้งหมดพร้อมที่อยู่หรือสถานที่ติดต่อ หมายเลขโทรศัพท์หรือช่องทางอื่นที่ใช้ในการติดต่อพยานเหล่านั้นเก็บไว้ ณ ที่ทำการของพนักงานสอบสวน)  การถามปากคำเด็กตามวรรคหนึ่ง ให้พนักงานสอบสวนจัดให้มีการบันทึกภาพและเสียงการถามปากคำดังกล่าวซึ่งสามารถนำออกถ่ายทอดได้อย่างต่อเนื่องไว้เป็นพยาน
                 ในกรณีจำเป็นเร่งด่วนอย่างยิ่ง ซึ่งมีเหตุอันควร    (วรรคห้า)
                     -  ไม่อาจรอนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ บุคคลที่เด็กร้องขอ และพนักงานอัยการเข้าร่วมในการถามปากคำพร้อมกันได้
                    -  ให้พนักงานสอบสวนถามปากคำเด็ก โดยมีบุคคลใดบุคคลหนึ่งตามวรรคหนึ่งอยู่ร่วมด้วยก็ได้
                    -  แต่ต้องบันทึกเหตุที่ไม่อาจรอบุคคลอื่นไว้ในสำนวนการสอบสวน และ
                    -  มิให้ถือว่าการถามปากคำผู้เสียหายหรือพยานซึ่งเป็นเด็กในกรณีดังกล่าวที่ได้กระทำไปแล้วไม่ชอบด้วยกฎหมาย