วันศุกร์ที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

เมื่อ พงส. รับตัวเด็กมาสอบปากคำ

พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.๒๕๕๓

               มาตรา ๗๐  เมื่อพนักงานสอบสวน ได้รับตัว
                   -  เด็กหรือเยาวชนซึ่งถูกจับ หรือ
                   -  เด็กหรือเยาวชนซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิด ถูกเรียกมา ส่งตัวมา เข้าหาพนักงานสอบสวนเอง มาปรากฏตัวอยู่ต่อหน้าพนักงานสอบสวน หรือ
                   -  มีผู้นำตัวเด็กหรือเยาวชนนั้น เข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวน
             => และคดีนั้น เป็นคดีที่ต้องพิจารณาพิพากษาในศาลเยาวชนและครอบครัว
ให้รีบสอบถามเบื้องต้น
                   ให้พนักงานสอบสวน
                    -  รีบสอบถามเด็กหรือเยาวชนในเบื้องต้น เพื่อทราบ ชื่อตัว ชื่อสกุล อายุ สัญชาติ ถิ่นที่อยู่ สถานที่เกิด และอาชีพของเด็กหรือเยาวชน ตลอดจนชื่อตัว ชื่อสกุล และรายละเอียดเกี่ยวกับบิดา มารดา ผู้ปกครอง บุคคลหรือองค์การซึ่งเด็กหรือเยาวชนอาศัยอยู่ด้วย แล้ว
                    -  แจ้งข้อกล่าวหาให้บุคคลดังกล่าว (บิดา มารดา ฯลฯ) ทราบ และแจ้งให้ผู้อำนวยการสถานพินิจที่เด็กหรือเยาวชนนั้นอยู่ในเขตอำนาจ เพื่อดำเนินการตามมาตรา ๘๒
สถานที่สอบถามเด็ก  (วรรคสอง)
                   การสอบถามเบื้องต้น ให้พนักงานสอบสวน
                    -  กระทำในสถานที่ที่เหมาะสม โดยไม่เลือกปฏิบัติ และ
                    -  ไม่ปะปนกับผู้ต้องหาอื่น หรือมีบุคคลอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องอยู่ในสถานที่นั้น อันมีลักษณะเป็นการประจานเด็กหรือเยาวชน
                    -  ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงอายุ เพศ สภาวะของเด็กหรือเยาวชนเป็นสำคัญ และ
                    -  ต้องใช้ภาษา หรือถ้อยคำ ที่ทำให้เด็กหรือเยาวชนสามารถเข้าใจได้โดยง่าย โดยคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
                    -  ถ้าเด็กหรือเยาวชนไม่สามารถสื่อสารหรือไม่เข้าใจภาษาไทย ก็ให้จัดหาล่ามให้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา หรือจัดหาเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก หรือความช่วยเหลืออื่นใดให้ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
                     -  หากเด็กหรือเยาวชนประสงค์จะติดต่อสื่อสารหรือปรึกษาหารือกับบิดา มารดา ผู้ปกครอง บุคคลหรือผู้แทนองค์การซึ่งเด็กหรือเยาวชนอาศัยอยู่ด้วย และอยู่ในวิสัยที่จะดำเนินการได้ ให้พนักงานสอบสวนดำเนินการให้ตามควรแก่กรณีโดยไม่ชักช้า
นำ ป.วิ.อ. ม.๑๓๔ มาใช้
                 มาตรา ๗๑  เมื่อได้สอบถามเบื้องต้นและแจ้งข้อกล่าวหาตามมาตรา ๗๐ แล้ว
                     -  ในกรณีที่เด็กหรือเยาวชนถูกเรียกมา ส่งตัวมา เข้าหาพนักงานสอบสวนเอง มาปรากฏตัวอยู่ต่อหน้าพนักงานสอบสวน หรือ
                     -  มีผู้นำตัวเด็กหรือเยาวชนนั้นเข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวน
                     =>  ให้พนักงานสอบสวนดำเนินการตามมาตรา ๑๓๔ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา โดยอนุโลม  (คลิกดูที่นี่)

วิธีการสอบปากคำเด็ก
                มาตรา ๗๕  ในการสอบสวน
                   -  ให้ใช้สถานที่และถ้อยคำเช่นเดียวกับการสอบถามเบื้องต้น
                   -  การแจ้งข้อกล่าวหาและสอบปากคำเด็กหรือเยาวชนซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดจะต้องมี
ที่ปรึกษากฎหมายของเด็กหรือเยาวชนร่วมอยู่ด้วยทุกครั้ง
                   -  พร้อมทั้งแจ้งด้วยว่า เด็กหรือเยาวชนมีสิทธิที่จะไม่ให้การหรือให้การก็ได้ และถ้อยคำของเด็กหรือเยาวชนอาจใช้เป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาคดีได้
                   -  ทั้งนี้ เมื่อคำนึงถึงอายุ เพศ และสภาพจิตของเด็กหรือเยาวชนซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดแต่ละราย
                       ในการแจ้งข้อหาและการสอบปากคำเด็กหรือเยาวชนนั้น บิดา มารดา ผู้ปกครอง บุคคลหรือผู้แทนองค์การซึ่งเด็กหรือเยาวชนอาศัยอยู่ด้วยจะเข้าร่วมรับฟังการสอบสวนดังกล่าวด้วยก็ได้
การถามและแจ้งข้อหา (ป.วิ.อ.)
                    มาตรา ๑๓๔  เมื่อผู้ต้องหาถูกเรียก หรือส่งตัวมา หรือเข้าหาพนักงานสอบสวนเอง หรือปรากฏว่าผู้ใดซึ่งมาอยู่ต่อหน้าพนักงานสอบสวนเป็นผู้ต้องหา
                    -  ให้ถามชื่อตัว ชื่อรอง ชื่อสกุล สัญชาติ บิดามารดา อายุ อาชีพ ที่อยู่ ที่เกิด และ
                    -  แจ้งให้ทราบถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำที่กล่าวหาว่าผู้ต้องหาได้กระทำผิด
                    -  แล้วจึงแจ้งข้อหาให้ทราบ การแจ้งข้อหา จะต้องมีหลักฐานตามสมควรว่าผู้นั้นน่าจะได้กระทำผิดตามข้อหานั้น
                    -  ผู้ต้องหามีสิทธิได้รับการสอบสวนด้วยความรวดเร็ว ต่อเนื่อง และเป็นธรรม
                    -  ต้องให้โอกาสผู้ต้องหาที่จะแก้ข้อหา และที่จะแสดงข้อเท็จจริงอันเป็นประโยชน์แก่ตนได้
นำไปศาล ตรวจสอบการจับ
                มาตรา ๗๒  ในกรณีที่พนักงานสอบสวนได้รับตัวเด็กหรือเยาวชนซึ่งถูกจับ ให้พนักงานสอบสวน
                    -  นำตัวเด็กหรือเยาวชนไปศาลเพื่อตรวจสอบการจับกุมทันที
                    -  ทั้งนี้ ภายในเวลายี่สิบสี่ชั่วโมงนับแต่เวลาที่เด็กหรือเยาวชนไปถึงที่ทำการของพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ แต่มิให้นับเวลาเดินทางตามปกติที่นำตัวเด็กหรือเยาวชนผู้ถูกจับจากที่ทำการของพนักงานสอบสวนมาศาลเข้าในกำหนดเวลายี่สิบสี่ชั่วโมงนั้นด้วย
(ข้อสังเกต.-  การขอให้ศาลตรวจสอบการจับ ให้เริ่มนับเวลา ตั้งแต่เด็กมาถึงที่ทำการของพนักงานสอบสวน มิใช่เริ่มนับตั้งแต่เวลาถูกจับ)
                > ในกรณีที่เด็กหรือเยาวชนซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิด มีบิดา มารดา ผู้ปกครอง หรือบุคคล หรือองค์การซึ่งเด็กหรือเยาวชนอาศัยอยู่ด้วย และบุคคลหรือองค์การดังกล่าวแสดงให้เห็นว่ายังสามารถปกครองดูแลเด็กหรือเยาวชนนั้นได้ พนักงานสอบสวน...
                    -  อาจมอบตัวเด็กหรือเยาวชนให้แก่บุคคลดังกล่าวไปปกครองดูแล และ
                    -  สั่งให้นำตัวเด็กหรือเยาวชนไปยังศาลภายในยี่สิบสี่ชั่วโมงนับแต่เวลาที่เด็กหรือเยาวชนไปถึงที่ทำการของพนักงานสอบสวนภายหลังถูกจับ
                    -  ในกรณีเช่นว่านี้ หากมีพฤติการณ์น่าเชื่อว่าเด็กหรือเยาวชนจะไม่ไปศาล พนักงานสอบสวนจะเรียกประกันจากบุคคลดังกล่าวตามควรแก่กรณีก็ได้
                    -  บทบัญญัติมาตรานี้มิให้นำไปใช้บังคับในคดีที่พนักงานสอบสวนเห็นว่า คดีอาจเปรียบเทียบปรับได้
              (ความเห็น.-  กรณีเยาวชนอายุเกินสิบห้าปีบริบูรณ์ขึ้นไปแต่ไม่ถึงสิบแปดปีบริบูรณ์ พนักงานสอบสวนมีอำนาจเปรียบเทียบปรับได้ จึงไม่ต้องนำตัวไปศาลเพื่อตรวจสอบการจับกุม ส่วนเด็กหรือเยาวชนที่ยังอายุยังไม่เกินสิบห้าปีนั้น พนักงานสอบสวนไม่อาจเปรียบเทียบปรับได้ (คลิกดูที่นี่))
(แบบฟอร์มคำร้องขอตรวจสอบการจับ)
การขอหมายขัง (ป.วิ.อ. ม.๑๓๔)
                    เมื่อได้มีการแจ้งข้อกล่าวหาแล้ว ถ้าผู้ต้องหาไม่ใช่ผู้ถูกจับและยังไม่ได้มีการออกหมายจับ แต่พนักงานสอบสวนเห็นว่า มีเหตุที่จะออกหมายขังผู้นั้นได้ตามมาตรา ๗๑
                    -  พนักงานสอบสวนมีอำนาจสั่งให้ผู้ต้องหาไปศาลเพื่อขอออกหมายขังโดยทันที
                    -  แต่ถ้าขณะนั้นเป็นเวลาที่ศาลปิด หรือใกล้จะปิดทำการ ให้พนักงานสอบสวนสั่งให้ผู้ต้องหาไปศาลในโอกาสแรกที่ศาลเปิดทำการ
                    -  กรณีเช่นว่านี้ให้นำมาตรา ๘๗ มาใช้บังคับแก่การพิจารณาออกหมายขังโดยอนุโลม
                    -  หากผู้ต้องหาไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานสอบสวนดังกล่าว ให้พนักงานสอบสวนมีอำนาจจับผู้ต้องหานั้นได้ โดยถือว่าเป็นกรณีจำเป็นเร่งด่วนที่จะจับผู้ต้องหาได้โดยไม่มีหมายจับ และมีอำนาจปล่อยชั่วคราวหรือควบคุมตัวผู้ต้องหานั้นไว้
(หมายเหตุ.- กรณีนี้เมื่อไม่ใช่ผู้ถูกจับและไม่มีการจับ ศาลจึงไม่ต้องตรวจสอบการจับ)
การตรวจสอบของศาล
               มาตรา ๗๓ เมื่อเด็กหรือเยาวชนมาอยู่ต่อหน้าศาล ให้ศาลตรวจสอบว่า
                    -  เป็นเด็กหรือเยาวชนซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดหรือไม่
                    -  การจับและการปฏิบัติต่อเด็กหรือเยาวชนเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
                    -  หากการจับเป็นไปโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ก็ให้ปล่อยตัวเด็กหรือเยาวชนไป
                    -  ถ้าเด็กหรือเยาวชนยังไม่มีที่ปรึกษากฎหมาย ให้ศาลแต่งตั้งให้
                    -  และเพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิเด็กหรือเยาวชนศาลอาจมีคำสั่งให้มอบตัวเด็กหรือเยาวชนให้แก่บิดา มารดา ผู้ปกครอง บุคคลหรือองค์การซึ่งเด็กหรือเยาวชนอาศัยอยู่ด้วย หรือบุคคลหรือองค์การที่ศาลเห็นสมควรเป็นผู้ดูแลเด็กหรือเยาวชนในระหว่างการดำเนินคดี โดยกำหนดให้บุคคลดังกล่าวมีหน้าที่นำตัวเด็กหรือเยาวชนนั้นไปพบพนักงานสอบสวนหรือพนักงานคุมประพฤติหรือศาล แล้วแต่กรณี
                    ในกรณีที่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า การกระทำของเด็กหรือเยาวชนมีลักษณะหรือพฤติการณ์ที่อาจเป็นภัยต่อบุคคลอื่นอย่างร้ายแรง หรือมีเหตุสมควรประการอื่น ศาลอาจมีคำสั่งให้ควบคุมเด็กหรือเยาวชนซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดไว้ในสถานพินิจหรือในสถานที่อื่นที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายและตามที่ศาลเห็นสมควร
                    ถ้าเยาวชนนั้นมีอายุตั้งแต่สิบแปดปีบริบูรณ์ขึ้นไปและมีลักษณะหรือพฤติการณ์ที่อาจเป็นภัยต่อบุคคลอื่น หรือมีอายุเกินยี่สิบปีบริบูรณ์แล้ว ศาลอาจมีคำสั่งให้ควบคุมไว้ในเรือนจำหรือสถานที่อื่นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
                    การมอบตัวเด็กหรือเยาวชนให้แก่ผู้ดูแลตามวรรคหนึ่งหรือการปล่อยชั่วคราวหากปรากฏต่อศาลว่าเด็กหรือเยาวชนมีความจำเป็นต้องเข้ารับการบำบัดรักษา หรือรับคำปรึกษาแนะนำหรือเข้าร่วมกิจกรรมบำบัดใด ๆ ให้ศาลมีอำนาจกำหนดมาตรการเช่นว่านั้นด้วยก็ได้
(ความเห็น.-  กรณีจับบุคคลอายุตั้งแต่สิบแปดปีบริบูรณ์ขึ้นไป แต่ขณะกระทำผิดอายุไม่เกินสิบแปดปีบริบูรณ์ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลเยาวชนและครอบครัว การตรวจสอบการจับกุมเป็นไปตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนฯ มาตรา ๗๒ โดยพิจารณาข้อความในวรรคสามของมาตรา ๗๓ ซึ่งบัญญัติว่า  “ถ้าเยาวชนนั้นอายุตั้งแต่สิบแปดปีบริบูรณ์ขึ้นไปและมีลักษณะหรือพฤติการณ์ที่อาจเป็นภัยต่อบุคคลอื่น หรือมีอายุเกินยี่สิบปีบริบูรณ์แล้วศาลอาจมีคำสั่งให้ควบคุมตัวไว้ในเรือนจำ...”  แสดงว่า ศาลมีอำนาจตรวจสอบการจับบุคคลที่ถูกจับเมื่ออายุตั้งแต่สิบแปดปีขึ้นไปได้  ในกรณีที่มีการจับผู้ต้องหาตามหมายจับได้ในภายหลัง พนักงานสอบสวนก็ต้องนำตัวผู้ต้องหานั้นมาตรวจสอบการจับด้วยเช่นกัน)

บทความที่เกี่ยวข้อง
-  การถามปากคำเด็กอายุไม่เกินสิบแปดปี 
-  การขอผัดฟ้อง-ฝากขังเด็ก