วันเสาร์ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

กำชับการสอบสวนผู้ต้องหาที่เป็นเด็กหรือเยาวชน

               ในการทำสำนวนการสอบสวนคดีที่ผู้ต้องหาเป็นเด็กหรือเยาวชน ให้เป็นไปด้วยความถูกต้อง รวดเร็ว ที่พนักงานอัยการสามารถฟ้องผู้ต้องหาต่อศาลได้ พนักงานสอบสวนควรดำเนินการให้ครบถ้วน ดังต่อไปนี้
               ๑.  แจ้งการดำเนินคดีกับผู้ต้องหาไปยังสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดฯ และติดตามรายงานการสืบเสาะฯ มารวมไว้ในสำนวนด้วย
               ๒.  ให้จัดทำบันทึกการถามปากคำเบื้องต้น ตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.๒๕๕๓ มาตรา ๗๐ ด้วย (ยังไม่มีแบบฟอร์มที่เป็นมาตรฐาน)
                    "มาตรา ๗๐  เมื่อพนักงานสอบสวนได้รับตัวเด็กหรือเยาวชนซึ่งถูกจับ หรือเด็กหรือเยาวชนซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดถูกเรียกมา ส่งตัวมา เข้าหาพนักงานสอบสวนเอง มาปรากฏตัวอยู่ต่อหน้าพนักงานสอบสวน หรือมีผู้นำตัวเด็กหรือเยาวชนนั้นเข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวน และคดีนั้นเป็นคดีที่ต้องพิจารณาพิพากษาในศาลเยาวชนและครอบครัว ให้พนักงานสอบสวนรีบสอบถามเด็กหรือเยาวชนในเบื้องต้นเพื่อทราบชื่อตัว ชื่อสกุล อายุ สัญชาติ ถิ่นที่อยู่ สถานที่เกิดและอาชีพของเด็กหรือเยาวชน ตลอดจนชื่อตัว ชื่อสกุล และรายละเอียดเกี่ยวกับบิดา มารดา ผู้ปกครอง บุคคลหรือองค์การซึ่งเด็กหรือเยาวชนอาศัยอยู่ด้วย แล้วแจ้งข้อกล่าวหาให้บุคคลดังกล่าวทราบ และแจ้งให้ผู้อำนวยการสถานพินิจที่เด็กหรือเยาวชนนั้นอยู่ในเขตอำนาจ เพื่อดำเนินการตามมาตรา ๘๒
                      การสอบถามเบื้องต้นตามวรรคหนึ่ง ให้กระทำในสถานที่ที่เหมาะสม โดยไม่เลือกปฏิบัติและไม่ปะปนกับผู้ต้องหาอื่นหรือมีบุคคลอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องอยู่ในสถานที่นั้นอันมีลักษณะเป็นการประจานเด็กหรือเยาวชน ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงอายุ เพศ สภาวะของเด็กหรือเยาวชนเป็นสำคัญ และต้องใช้ภาษาหรือถ้อยคำที่ทำให้เด็กหรือเยาวชนสามารถเข้าใจได้โดยง่าย โดยคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ถ้าเด็กหรือเยาวชนไม่สามารถสื่อสารหรือไม่เข้าใจภาษาไทยก็ให้จัดหาล่ามให้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา หรือจัดหาเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกหรือความช่วยเหลืออื่นใดให้ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ หากเด็กหรือเยาวชนประสงค์จะติดต่อสื่อสารหรือปรึกษาหารือกับบิดา มารดา ผู้ปกครอง บุคคลหรือผู้แทนองค์การซึ่งเด็กหรือเยาวชนอาศัยอยู่ด้วยและอยู่ในวิสัยที่จะดำเนินการได้ ให้พนักงานสอบสวนดำเนินการให้ตามควรแก่กรณีโดยไม่ชักช้า"
               ๓.  ในการถามปากคำเด็กและเยาวชนที่ต้องหาว่ากระทำผิด ขอให้มีที่ปรึกษากฎหมายอยู่ด้วยทุกครั้ง ตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.๒๕๕๓ มาตรา ๗๕ วรรคสอง
                    "มาตรา ๗๕  ในการสอบสวน ให้กระทำในสถานที่ที่เหมาะสมโดยไม่เลือกปฏิบัติและไม่ปะปนกับผู้ต้องหาอื่นหรือมีบุคคลอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องอยู่ในสถานที่นั้นอันมีลักษณะเป็นการประจานเด็กหรือเยาวชน ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงอายุ เพศ สภาวะของเด็กหรือเยาวชนเป็นสำคัญ และต้องใช้ภาษาและถ้อยคำที่ทำให้เด็กหรือเยาวชนสามารถเข้าใจได้ง่าย โดยคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ถ้าเด็กหรือเยาวชนไม่สามารถสื่อสารหรือไม่เข้าใจภาษาไทยให้จัดหาล่ามให้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาหรือจัดหาเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกหรือความช่วยเหลืออื่นใดให้ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
                    ในการแจ้งข้อกล่าวหาและสอบปากคำเด็กหรือเยาวชนซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดจะต้องมีที่ปรึกษากฎหมายของเด็กหรือเยาวชนร่วมอยู่ด้วยทุกครั้ง พร้อมทั้งแจ้งด้วยว่าเด็กหรือเยาวชนมีสิทธิที่จะไม่ให้การหรือให้การก็ได้ และถ้อยคำของเด็กหรือเยาวชนอาจใช้เป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาคดีได้ ทั้งนี้ เมื่อคำนึงถึงอายุ เพศ และสภาพจิตของเด็กหรือเยาวชนซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดแต่ละราย
                      ในการแจ้งข้อหาและการสอบปากคำเด็กหรือเยาวชนตามวรรคสอง บิดา มารดา ผู้ปกครอง บุคคลหรือผู้แทนองค์การซึ่งเด็กหรือเยาวชนอาศัยอยู่ด้วยจะเข้าร่วมรับฟังการสอบสวนดังกล่าวด้วยก็ได้"

               ๔.  ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๓๓ ทวิ ประกอบมาตรา ๑๓๔/๒ กำหนดว่า ในคดีที่มีอัตราโทษจำคุกและผู้ต้องหาที่เป็นเด็กและเยาวชนร้องขอ ต้องจัดให้มีสหวิชาชีพร่วมอยู่ด้วยในการถามปากคำ ดังนั้น ในคดีที่มีโทษจำคุกทุกคดี ขอให้พนักงานสอบสวนถามเด็กและเยาวชนที่ต้องหาว่ากระทำผิดว่า ต้องการให้มีสหวิชาชีพร่วมอยู่ด้วยในการถามปากคำหรือไม่ หากไม่ต้องการขอให้บันทึกไว้ในคำให้การของผู้ต้องหาที่เป็นเด็กและเยาวชนว่าไม่ต้องการสหวิชาชีพด้วย
                    "มาตรา ๑๓๓ ทวิ  ในคดีความผิดเกี่ยวกับเพศ ความผิดเกี่ยวกับชีวิตและร่างกายอันมิใช่ความผิดที่เกิดจากการชุลมุนต่อสู้ ความผิดเกี่ยวกับเสรีภาพ ความผิดฐานกรรโชก ชิงทรัพย์และปล้นทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยมาตรการในการป้องกันและปราบปรามการค้าหญิงและเด็ก ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยสถานบริการ หรือคดีความผิดอื่นที่มีอัตราโทษจำคุก ซึ่งผู้เสียหายหรือพยานที่เป็นเด็กอายุไม่เกินสิบแปดปีร้องขอ การถามปากคำผู้เสียหายหรือพยานที่เป็นเด็กอายุไม่เกินสิบแปดปี ให้พนักงานสอบสวนแยกกระทำเป็นส่วนสัดในสถานที่ที่เหมาะสมสำหรับเด็ก และให้มีนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ บุคคลที่เด็กร้องขอ และพนักงานอัยการร่วมอยู่ด้วยในการถามปากคำเด็กนั้น และในกรณีที่นักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์เห็นว่า การถามปากคำเด็กคนใดหรือคำถามใด อาจจะมีผลกระทบกระเทือนต่อจิตใจเด็กอย่างรุนแรง ให้พนักงานสอบสวนถามผ่านนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์เป็นการเฉพาะตามประเด็นคำถามของพนักงานสอบสวน โดยมิให้เด็กได้ยินคำถามของพนักงานสอบสวนและห้ามมิให้ถามเด็กซ้ำซ้อนหลายครั้งโดยไม่มีเหตุอันสมควร
                     ให้เป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนที่จะต้องแจ้งให้นักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ บุคคลที่เด็กร้องขอ และพนักงานอัยการทราบ รวมทั้งแจ้งให้ผู้เสียหายหรือพยานที่เป็นเด็กทราบถึงสิทธิตามวรรคหนึ่งด้วย
                     นักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ หรือพนักงานอัยการที่เข้าร่วมในการถามปากคำอาจถูกผู้เสียหายหรือพยานซึ่งเป็นเด็กตั้งรังเกียจได้ หากมีกรณีดังกล่าวให้เปลี่ยนตัวผู้นั้น
                     ภายใต้บังคับแห่งมาตรา ๑๓๙ การถามปากคำเด็กตามวรรคหนึ่ง ให้พนักงานสอบสวนจัดให้มีการบันทึกภาพและเสียงการถามปากคำดังกล่าวซึ่งสามารถนำออกถ่ายทอดได้อย่างต่อเนื่องไว้เป็นพยาน
                     ในกรณีจำเป็นเร่งด่วนอย่างยิ่งซึ่งมีเหตุอันควรไม่อาจรอนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ บุคคลที่เด็กร้องขอ และพนักงานอัยการเข้าร่วมในการถามปากคำพร้อมกันได้ ให้พนักงานสอบสวนถามปากคำเด็กโดยมีบุคคลใดบุคคลหนึ่งตามวรรคหนึ่งอยู่ร่วมด้วยก็ได้ แต่ต้องบันทึกเหตุที่ไม่อาจรอบุคคลอื่นไว้ในสำนวนการสอบสวน และมิให้ถือว่าการถามปากคำผู้เสียหายหรือพยานซึ่งเป็นเด็กในกรณีดังกล่าวที่ได้กระทำไปแล้วไม่ชอบด้วยกฎหมาย"
                    "มาตรา ๑๓๔/๒  ให้นำบทบัญญัติในมาตรา ๑๓๓ ทวิ มาใช้บังคับโดยอนุโลมแก่การสอบสวนผู้ต้องหาที่เป็นเด็กอายุไม่เกินสิบแปดปี"
               ๕.  คดีที่ขณะกระทำผิด ผู้ต้องหาเป็นเด็กและเยาวชน แต่ภายหลังสามารถจับตัวมาดำเนินคดีได้แม้จะปรากฎว่าเป็นบุคคลที่มีอายุพ้นเกณฑ์เยาวชน กรณีเช่นนี้ ขอให้พนักงานสอบสวนจัดให้มีที่ปรึกษากฎหมาย และถามผู้ต้องหาว่า "ต้องการสหวิชาชีพร่วมอยู่ด้วยในการถามปากคำหรือไม่"
               ๖.  คดีที่ผู้ต้องหาที่เป็นเด็กและเยาวชนตั้งแต่สองคนขึ้นไป ถูกกล่าวหาว่า ร่วมกันมียาเสพติดไว้ในครอบครองและเสพยาเสพติดให้โทษ และเป็นคดีที่อยู่ในเกณฑ์ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ขอให้ทำสำนวนการสอบสวนผู้ต้องหาแต่ละคนแยกต่างหากจากกัน เพราะหากทำเป็นสำนวนเดียวกันผู้ต้องหารายหนึ่งผ่านเกณฑ์การฟื้นฟูฯ และอีกรายหนึ่งไม่ผ่านเกณฑ์ฟื้นฟูฯ จะก่อให้เกิดความยุ่งยากในการสั่งสำนวนของพนักงานอัยการ
               ๗.  คดีฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ขอให้แจ้งการดำเนินคดีไปยังสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนด้วย และหากผู้ต้องหาไม่ผ่านการฟื้นฟูฯ ขอให้ติดตามตัวผู้ต้องหาพร้อมรายงานการสืบเสาะและประวัติการกระทำผิดของผู้ต้องหาส่งสำนักงานอัยการคดีเยาวชนและครอบครัวจังหวัดฯ ด้วย


บทความที่เกี่ยวข้อง
-  การดำเนินคดีเด็กหรือเยาวชนที่ผลการฟื้นฟูไม่ผ่าน