วันพฤหัสบดีที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

การสอบสวนคดีความรุนแรงในครอบครัว

               ตัวอย่างวิธีการปรับใช้กฎหมายเรื่องการกระทำความรุนแรงในครอบครัว เช่น พนักงานสอบสวนได้รับแจ้งความว่า สามีทำร้ายร่างกายภริยาแต่ไม่ถึงกับได้รับอันตรายสาหัส เกิดขึ้นในเขตพื้นที่รับผิดชอบ ขั้นตอนการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.๒๕๕๐ บัญญัติไว้ดังนี้

               มาตรา ๔   ผู้ใดกระทำการอันเป็นความรุนแรงในครอบครัว ผู้นั้นกระทำความผิดฐาน กระทำความรุนแรงในครอบครัว ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน ๖ เดือน หรือปรับไม่เกิน ๖,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
               ให้ความผิดตามวรรคหนึ่ง เป็นความผิดอันยอมความกันได้ แต่ไม่ลบล้างความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาหรือกฎหมายอื่น หากการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นความผิดฐานทำร้ายร่างกายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙๕ ด้วย ให้ความผิดดังกล่าวเป็นความผิดอันยอมความได้
(หมายเหตุ. - มาตรา ๒๙๕  ผู้ใดทำร้ายผู้อื่น จนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจของผู้อื่นนั้น ผู้นั้นกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ)

               มาตรา ๕  ผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว หรือผู้ที่พบเห็นหรือทราบการกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว มีหน้าที่แจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เพื่อดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้
               การแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามวรรคหนึ่ง เมื่อได้กระทำโดยสุจริต ย่อมได้รับความคุ้มครองและไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา และทางปกครอง

               มาตรา ๗  ถ้ามิได้มีการแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา ๕ หรือมิได้มีการร้องทุกข์ตามมาตรา ๖ ภายในสามเดือนนับแต่ผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวอยู่ในวิสัยและมีโอกาสที่จะแจ้งหรือร้องทุกข์ได้ ให้ถือว่าคดีเป็นอันขาดอายุความ แต่ไม่ตัดสิทธิผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวหรือผู้มีส่วนได้เสียจะร้องขอคุ้มครองสวัสดิภาพตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว

               มาตรา ๘  เมื่อมีการร้องทุกข์ภายในอายุความตามมาตรา ๗ แล้ว ให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนโดยเร็วและส่งตัวผู้กระทำความรุนแรงในครอบครัว สำนวนการสอบสวนพร้อมทั้งความเห็นไปยังพนักงานอัยการเพื่อฟ้องคดีต่อศาลภายในสี่สิบแปดชั่วโมงนับแต่ได้ตัวผู้กระทำความรุนแรงในครอบครัว แต่หากมีเหตุจำเป็นทำให้ไม่อาจยื่นฟ้องได้ทันภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้ขอผัดฟ้องต่อศาลได้คราวละไม่เกินหกวัน แต่ทั้งนี้ ต้องไม่เกินสามคราว โดยให้นำกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับโดยอนุโลม
               ในกรณีที่การกระทำความผิดตามมาตรา ๔ วรรคหนึ่ง เป็นความผิดกรรมเดียวกับความผิดตามกฎหมายอื่น ให้ดำเนินคดีความผิดตามมาตรา ๔ วรรคหนึ่ง ต่อศาล รวมไปกับความผิดตามกฎหมายอื่นนั้น เว้นแต่ความผิดตามกฎหมายอื่นนั้นมีอัตราโทษสูงกว่าให้ดำเนินคดีต่อศาลที่มีอำนาจพิจารณาความผิดตามกฎหมายอื่นนั้น โดยให้นำบทบัญญัติทั้งหลายแห่งพระราชบัญญัตินี้ไปใช้บังคับโดยอนุโลม
               ในการสอบปากคำผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พนักงานสอบสวนต้องจัดให้มีจิตแพทย์ นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ หรือบุคคลที่ผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวร้องขอร่วมอยู่ด้วยในขณะสอบปากคำเพื่อให้คำปรึกษา
               ในกรณีจำเป็นเร่งด่วน ซึ่งมีเหตุอันควรไม่อาจรอจิตแพทย์ นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ หรือบุคคลที่ผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวร้องขอ ให้พนักงานสอบสวนทำการสอบปากคำไปก่อนโดยไม่ต้องมีบุคคลดังกล่าวร่วมอยู่ด้วย แต่ต้องบันทึกเหตุที่ไม่อาจรอบุคคลดังกล่าวไว้ในสำนวนการสอบสวน
               หลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินการของพนักงานสอบสวน ให้เป็นไปตามระเบียบที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด

               จากบทบัญญัติข้างต้นเห็นได้ว่า ผู้กระทำความผิดฐานกระทำความรุนแรงในครอบครัว ตามมาตรา ๔ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน ๖ เดือน หรือปรับไม่เกิน ๖,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เป็นความผิดอันยอมความได้และจะต้องดำเนินคดีต่อศาลเยาวชนและครอบครัวตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว รวมไปกับความผิดตามกฎหมายอื่น
               แต่มีข้อยกเว้นว่า ถ้าความผิดตามกฎหมายอื่นนั้นมีอัตราโทษสูงกว่า ก็ให้ดำเนินคดีต่อศาลที่มีอำนาจพิจารณาความผิดตามกฎหมายอื่นนั้น ตามมาตรา ๘ วรรคสอง กล่าวคือ ถ้าความผิดตามกฏหมายอื่นมีอัตราโทษสูงกว่าโทษตามมาตรา ๔ ก็ให้ดำเนินคดีต่อศาลแขวงหรือศาลจังหวัดแล้วแต่กรณี
               เพียงแต่มาตรา ๔ วรรคสอง บัญญัติว่า ถ้าความผิดอื่นที่รวมอยู่ด้วยเป็นความผิดฐานทำร้ายร่างกายตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๙๕ ก็ให้ความผิดนั้นเป็นความผิดอันยอมความได้เท่านั้น แต่การกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙๕ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน ๒ ปีหรือปรับไม่เกิน ๔,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งเป็นความผิดอื่นที่มีอัตราโทษสูงกว่า ดังนั้น จึงต้องดำเนินคดีต่อศาลแขวง
               อีกทั้งในปัจจุบันประมวลกฎหมายอาญา ได้มีการแก้ไขบทลงโทษในความผิดลหุโทษใหม่ ให้ความผิดในบางฐานต้องระวางโทษปรับไม่เกิน ๑๐,๐๐๐ บาท สรุปแล้ว ความผิดฐานกระทำความรุนแรงในครอบครัวที่มีความผิดลหุโทษรวมอยู่ด้วย ก็ต้องดำเนินคดีในศาลแขวงหรือศาลจังหวัด แล้วแต่กรณี
               แต่ถ้าเป็นการกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำร้ายรับอันตรายสาหัส ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙๗ ต้องระวางโทษจำคุก ๖ เดือน ถึง ๑๐ ปี กรณีนี้ไม่สามารถยอมความกันได้ และต้องถูกดำเนินคดีในศาลจังหวัด

               จากข้อกฎหมายข้างต้นเมื่อปรับเข้ากับข้อเท็จจริงในกรณีสามีทำร้ายร่างกายภริยาได้รับบาดเจ็บไม่ถึงกับได้รับอันตรายสาหัส จึงมีขั้นตอนที่จะต้องดำเนินการในชั้นสอบสวน ดังนี้
               ๑.  การกระทำดังกล่าวเป็นความผิดฐาน “ทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจและกระทำความรุนแรงในครอบครัว” อันเป็นความผิดอันยอมความได้ พนักงานสอบสวนไม่อาจจะรับคำกล่าวโทษแล้วดำเนินคดีได้เองเหมือนความผิดอาญาต่อแผ่นดิน ในกรณีนี้ผู้เสียหายต้องร้องทุกข์มอบคดีให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดก่อน จึงจะทำการสอบสวนดำเนินคดีได้ตามกฎหมาย
                ๒.  เมื่อมีการร้องทุกข์แล้ว ให้พนักงานสอบสวนรีบสอบสวนแล้วส่งตัวผู้กระทำความรุนแรงในครอบครัว สำนวนการสอบสวนพร้อมทั้งความเห็นไปยังพนักงานอัยการเพื่อฟ้องผู้ต้องหาต่อศาลแขวง ภายใน ๔๘ ชั่วโมง นับแต่ได้ตัวผู้กระทำความผิด หากยื่นฟ้องไม่ทันให้ผัดฟ้องได้คราวละไม่เกิน ๖ วัน แต่ต้องไม่เกิน ๓ คราว เว้นแต่มีเหตุจำเป็นก็ขอผัดฟ้องอีกได้อีกคราวละไม่เกิน ๖ วัน แต่ต้องไม่เกิน ๒ คราว ในการสอบปากคำผู้เสียหาย พนักงานสอบสวนต้องจัดให้มีจิตแพทย์ นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ หรือบุคคลที่ผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวร้องขอร่วมอยู่ด้วย ในกรณีจำเป็นเร่งด่วน ต้องบันทึกเหตุที่ไม่อาจรอบุคคลดังกล่าวไว้ในสำนวนการสอบสวน
 
มาตรการบรรเทาทุกข์ 
                มาตรา ๑๐  ในการดำเนินการตามมาตรา ๘ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งมีฐานะเทียบได้ไม่ต่ำกว่าพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีมีอำนาจออกคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการเพื่อบรรเทาทุกข์ให้แก่บุคคลผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวเป็นการชั่วคราว ไม่ว่าจะมีคำร้องขอจากบุคคลดังกล่าวหรือไม่ โดยให้มีอำนาจออกคำสั่งใด ๆ ได้เท่าที่จำเป็นและสมควร ซึ่งรวมถึงการให้ผู้กระทำความรุนแรงในครอบครัวเข้ารับการตรวจรักษาจากแพทย์ การให้ผู้กระทำความรุนแรงในครอบครัวชดใช้เงินช่วยเหลือบรรเทาทุกข์เบื้องต้นตามสมควรแก่ฐานะ การออกคำสั่งห้ามผู้กระทำความรุนแรงในครอบครัวเข้าไปในที่พำนักของครอบครัวหรือเข้าใกล้ตัวบุคคลใดในครอบครัว ตลอดจนการกำหนดวิธีการดูแลบุตร
               เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ออกคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการเพื่อบรรเทาทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้เสนอมาตรการหรือวิธีการเพื่อบรรเทาทุกข์ต่อศาลภายในสี่สิบแปดชั่วโมงนับแต่วันออกคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการเพื่อบรรเทาทุกข์ หากศาลเห็นชอบกับคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการเพื่อบรรเทาทุกข์ดังกล่าว ให้คำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการเพื่อบรรเทาทุกข์มีผลต่อไป
               ในกรณีที่ศาลไม่เห็นชอบด้วยกับคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการเพื่อบรรเทาทุกข์ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน หรือมีข้อเท็จจริงหรือพฤติการณ์เปลี่ยนแปลงไป ให้ศาลทำการไต่สวนและมีคำสั่งโดยพลัน หากข้อเท็จจริงหรือพฤติการณ์เพียงพอแก่การวินิจฉัยออกคำสั่ง ศาลอาจแก้ไขเพิ่มเติมเปลี่ยนแปลง หรือเพิกถอนคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการเพื่อบรรเทาทุกข์หรือออกคำสั่งใด ๆ รวมทั้งกำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมก็ได้
               ผู้มีส่วนได้เสียเกี่ยวกับคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่หรือศาลตามมาตรานี้ สามารถยื่นอุทธรณ์คำสั่งเป็นหนังสือขอให้ศาลทบทวนคำสั่งได้ภายในสามสิบวันนับแต่ทราบคำสั่ง ให้คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลเป็นที่สุด
               ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่หรือศาล ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินสามพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
               สรุปได้ว่า  ในส่วนของพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจมีอำนาจสั่งการให้ผู้กระทำความรุนแรงในครอบครัวชดใช้เงินช่วยเหลือบรรเทาทุกข์เบื้องต้นตามสมควรแก่ฐานะ การออกคำสั่งห้ามผู้กระทำความรุนแรงในครอบครัวเข้าไปในที่พำนักของครอบครัวหรือเข้าใกล้ตัวบุคคลใดในครอบครัว ตลอดจนการกำหนดวิธีการดูแลบุตร แล้วให้เสนอมาตรการหรือวิธีการเพื่อบรรเทาทุกข์ต่อศาลภายใน ๔๘ ชั่วโมงนับแต่วันออกคำสั่ง

                มาตรา ๑๒  ในกรณีที่ศาลพิพากษาว่า ผู้กระทำความรุนแรงในครอบครัวมีความผิดตามมาตรา ๔ ศาลมีอำนาจกำหนดให้ใช้วิธีการฟื้นฟู บำบัดรักษา คุมความประพฤติผู้กระทำความผิดให้ผู้กระทำความผิดชดใช้เงินช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ ทำงานบริการสาธารณะ ละเว้นการกระทำอันเป็นเหตุให้เกิดการใช้ความรุนแรงในครอบครัว หรือทำทัณฑ์บนไว้ ตามวิธีการและระยะเวลาที่ศาลกำหนดแทนการลงโทษผู้กระทำความผิดก็ได้
                ในกรณีที่มีการยอมความ การถอนคำร้องทุกข์ หรือการถอนฟ้องในความผิดตามมาตรา ๔ ให้พนักงานสอบสวนหรือศาล แล้วแต่กรณี จัดให้มีการทำบันทึกข้อตกลงเบื้องต้นก่อนการยอมความ การถอนคำร้องทุกข์ หรือการถอนฟ้องนั้น และกำหนดให้นำวิธีการตามวรรคหนึ่งเป็นเงื่อนไขในการปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลงดังกล่าวโดยอนุโลม โดยอาจรับฟังความคิดเห็นของผู้เสียหายหรือบุคคลในครอบครัวประกอบด้วยก็ได้ หากได้ปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลงและเงื่อนไขดังกล่าวครบถ้วนแล้ว จึงให้มีการยอมความ การถอนคำร้องทุกข์ หรือการถอนฟ้องในความผิดตามมาตรา ๔ ได้ หากผู้ต้องหาหรือจำเลยฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าวให้พนักงานสอบสวนหรือศาลมีอำนาจยกคดีขึ้นดำเนินการต่อไป
                หลักเกณฑ์และวิธีดำเนินการตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ให้เป็นไปตามระเบียบที่อธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวกลางประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา หรือรัฐมนตรีประกาศกำหนด แล้วแต่กรณี
               สรุปได้ว่า  ในส่วนของพนักงานสอบสวน กรณีที่มีการยอมความ หรือการถอนคำร้องทุกข์ ให้จัดให้มีการทำบันทึกข้อตกลงเบื้องต้นก่อนการยอมความ หรือการถอนคำร้องทุกข์ หากได้ปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลงและเงื่อนไขดังกล่าวครบถ้วนแล้ว จึงให้มีการยอมความ หรือการถอนคำร้องทุกข์ หากผู้ต้องหาฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าวก็ให้พนักงานสอบสวนดำเนินการต่อไป ซึ่งกรณีนี้อาจมีปัญหาในเรื่องระยะเวลาว่า หากปฏิบัติตามข้อตกลงยังไม่ครบ ก็จะถอนคำร้องทุกข์ไม่ได้

บทความที่เกี่ยวข้อง
ความหมายความรุนแรงในครอบครัว
วิธีดำเนินคดีคุ้มครองสวัสดิภาพ ตามมาตรา ๗