วันเสาร์ที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 819/2546
ป.พ.พ. มาตรา 1520
             เมื่อโจทก์คลอดบุตรผู้เยาว์แล้วได้เลี้ยงดูด้วยตนเองตลอดมา ต่อมา โจทก์ไม่อาจทนอยู่กับจำเลยที่บ้านจำเลยได้ ต้องกลับไปอยู่บ้านบิดามารดาโจทก์ โจทก์ก็นำบุตรผู้เยาว์ไปเลี้ยงดูด้วย แม้บิดาจำเลยไปหลอกนำบุตรผู้เยาว์กลับมาที่บ้านจำเลย โจทก์เพียรพยายามขอพบบุตรผู้เยาว์ แต่ถูกกีดกันไม่ให้พบ โจทก์ยังคงห่วงใยและมีความรักบุตรผู้เยาว์แม้ถูกฝ่ายจำเลยพรากไป
             ทั้งโจทก์มีรายได้สามารถอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ได้ด้วยตนเองโดยปราศจากความช่วยเหลือของจำเลย ส่วนจำเลยเมื่อบิดาจำเลยนำบุตรผู้เยาว์กลับมา จำเลยและบิดามารดาจำเลยไม่อาจเลี้ยงดูได้ เพราะต้องไปทำงานทุกคน ต้องให้ญาติฝ่ายบิดาจำเลยเลี้ยงบุตรผู้เยาว์ตลอดมาจนถึงวัยเรียน และจำเลยมีรายได้น้อย ยังต้องพึ่งพาบิดามารดาจำเลยอยู่ ไม่อาจเลี้ยงดูบุตรภริยาได้ โจทก์จึงสมควรเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์แต่เพียงผู้เดียว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 448/2546
ป.พ.พ. มาตรา 1520, 1521
             บันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนหย่า ไม่มีข้อความใดระบุให้จำเลยต้องนำบุตรทั้งสองมาอยู่บ้านของจำเลยที่จังหวัดสมุทรปราการ คงระบุเพียงว่าให้บุตรทั้งสองอยู่ในอำนาจปกครองของจำเลยซึ่งเป็นบิดาเท่านั้น จำเลยซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองย่อมมีสิทธิกำหนดที่อยู่ของบุตรทั้งสองได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1567 (1) การที่จำเลยยังคงให้มารดาของตนเลี้ยงดูบุตรทั้งสองต่อมาภายหลังการหย่า โดยจำเลยไปเยี่ยมเยียนพร้อมทั้งส่งเงินค่าเลี้ยงดูให้ตลอดมา ย่อมเป็นการใช้อำนาจปกครองอันเหมาะสมและสอดคล้องกับพฤติการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะที่มีการหย่า
             เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า ต่อมา โจทก์หายจากโรคเครียดเป็นปกติ และทำงานเป็นเสมียนทนายความมีเงินเดือน ๆ ละ 12,000 บาท โจทก์ได้รับบุตรทั้งสองมาเลี้ยงดูตั้งแต่ปี 2540 จนถึงวันฟ้อง โดยให้บุตรทั้งสองศึกษาเล่าเรียนที่โรงเรียนในจังหวัดสมุทรปราการ และจำเลยได้เคยไปเยี่ยมบุตรทั้งสองที่โรงเรียนด้วย หากจำเลยนำบุตรทั้งสองกลับไปให้มารดาของจำเลยเลี้ยงดูที่จังหวัดนครสวรรค์ อีกครั้ง ก็อาจเป็นการกระทบกระเทือนต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของบุตรทั้งสอง ซึ่งโจทก์เป็นผู้เลี้ยงดูอย่างเป็นปกติสุขตลอดระยะเวลา 5 ปี ที่ผ่านมา
             เมื่อคำนึงถึงความผาสุกและประโยชน์ของบุตรทั้งสอง ประกอบกับพฤติการณ์ที่ได้เปลี่ยนแปลงไปดังกล่าวแล้ว จึงมีเหตุสมควรเปลี่ยนตัวผู้ใช้อำนาจปกครองจากจำเลยซึ่งเป็นบิดา มาเป็นโจทก์ซึ่งเป็นมารดา ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1520 และ 1521 โดยให้จำเลยมีสิทธิติดต่อเยี่ยมเยียนบุตรทั้งสองได้ตามควรแก่พฤติการณ์ตามมาตรา 1584/1

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2971/2544
ป.พ.พ. มาตรา 1522, 1566
             บันทึกข้อตกลงหลังทะเบียนการหย่า มิได้กล่าวว่าให้อำนาจปกครองบุตรอยู่กับโจทก์หรือจำเลย กรณีต้องถือว่าโจทก์จำเลยต่างเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรร่วมกันตามมาตรา 1566 วรรคหนึ่ง ส่วนมาตรา 1522 วรรคหนึ่ง นั้น มีความหมายเพียงว่า ในการหย่าโดยความยินยอม สามีและภริยาอาจตกลงกันในบันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนการหย่าว่าฝ่ายใดจะเป็นผู้ออกเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรเป็นจำนวนเท่าใด หากมิได้กำหนด ศาลก็ย่อมเป็นผู้กำหนดจำนวนเงินให้ได้ตามสมควรตามมาตรา 1522 วรรคสอง
            เมื่อข้อความตามบันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนหย่า ไม่ใช่ข้อตกลงเรื่องออกเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรเป็นจำนวนเท่าใด ดังนั้น ศาลจึงมีอำนาจกำหนดให้จำเลยออกค่าอุปการะเลี้ยงดูได้ และหลังจดทะเบียนหย่าในปี 2537 จำเลยมิได้ให้ค่าอุปการะเลี้ยงดูผู้เยาว์ โจทก์จึงเรียกให้จำเลยรับผิดจ่ายเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรย้อนหลังตั้งแต่ปี 2537 จนถึงวันฟ้องได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2563/2544
ป.พ.พ. มาตรา 1582, 1585, 1520
             ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1585 วรรคหนึ่ง ให้ตั้งผู้ปกครองผู้เยาว์ได้เฉพาะกรณีผู้เยาว์ไม่มีบิดามารดาหรือบิดามารดาถูกถอนอำนาจปกครอง การที่มารดาตาย ส่วนบิดายังมีชีวิตอยู่และมิได้ถูกถอนอำนาจปกครอง แม้บิดามารดาจะจดทะเบียนหย่าโดยตกลงให้มารดาเป็นผู้ปกครองผู้เยาว์แต่ฝ่ายเดียว ก็เป็นเรื่องการตกลงตามมาตรา 1520 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 1566 วรรคสอง (6) เท่านั้น มิใช่เป็นกรณีที่บิดาถูกถอนอำนาจปกครองเพราะการจะถอนอำนาจปกครองจะต้องมีเหตุตามมาตรา 1582 และเป็นอำนาจของศาล ดังนั้น อำนาจปกครองจึงกลับมาอยู่แก่บิดาฝ่ายเดียวตามมาตรา 1566 วรรคสอง (1) เมื่อผู้เยาว์ยังมีบิดาซึ่งยังไม่ถูกถอนอำนาจปกครองจึงไม่อาจตั้งผู้ปกครองได้ ผู้ร้องซึ่งเป็นน้าผู้เยาว์จึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ตั้งผู้ปกครอง
            ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1582 ให้อำนาจศาลถอนอำนาจปกครองได้โดยลำพัง ไม่ต้องให้ผู้ใดร้องขอก็ได้ หากมีเหตุตามบทบัญญัติดังกล่าว แม้ผู้ร้องไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอถอนอำนาจปกครองของบิดาผู้เยาว์ แต่เมื่อความปรากฏต่อศาลว่า ที่บิดาของผู้เยาว์ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำเกี่ยวกับการจำหน่ายยาเสพติดและไม่ได้อุปการะเลี้ยงดูผู้เยาว์ โดยให้อยู่ในความดูแลของผู้ร้อง ถือได้ว่า บิดาประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงและใช้อำนาจปกครองแก่ตัวผู้เยาว์โดยมิชอบ ศาลจึงมีอำนาจพิพากษาให้ถอนอำนาจปกครองบิดาผู้เยาว์ และเมื่อผู้เยาว์ไม่มีผู้ใช้อำนาจปกครองเนื่องจากมารดาตายและบิดาถูกถอนอำนาจปกครอง ประกอบกับผู้เยาว์อยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของผู้ร้องตลอดมา ทั้งบิดายินยอมให้ผู้ร้องเป็นผู้ปกครอง ศาลจึงตั้งผู้ร้องเป็นผู้ปกครองผู้เยาว์