วันพฤหัสบดีที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

การสอบสวนคดีความรุนแรงในครอบครัว

               ตัวอย่างวิธีการปรับใช้กฎหมายเรื่องการกระทำความรุนแรงในครอบครัว เช่น พนักงานสอบสวนได้รับแจ้งความว่า สามีทำร้ายร่างกายภริยาแต่ไม่ถึงกับได้รับอันตรายสาหัส เกิดขึ้นในเขตพื้นที่รับผิดชอบ ขั้นตอนการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.๒๕๕๐ บัญญัติไว้ดังนี้

               มาตรา ๔   ผู้ใดกระทำการอันเป็นความรุนแรงในครอบครัว ผู้นั้นกระทำความผิดฐาน กระทำความรุนแรงในครอบครัว ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน ๖ เดือน หรือปรับไม่เกิน ๖,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
               ให้ความผิดตามวรรคหนึ่ง เป็นความผิดอันยอมความกันได้ แต่ไม่ลบล้างความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาหรือกฎหมายอื่น หากการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นความผิดฐานทำร้ายร่างกายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙๕ ด้วย ให้ความผิดดังกล่าวเป็นความผิดอันยอมความได้
(หมายเหตุ. - มาตรา ๒๙๕  ผู้ใดทำร้ายผู้อื่น จนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจของผู้อื่นนั้น ผู้นั้นกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ)

               มาตรา ๕  ผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว หรือผู้ที่พบเห็นหรือทราบการกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว มีหน้าที่แจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เพื่อดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้
               การแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามวรรคหนึ่ง เมื่อได้กระทำโดยสุจริต ย่อมได้รับความคุ้มครองและไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา และทางปกครอง

               มาตรา ๗  ถ้ามิได้มีการแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา ๕ หรือมิได้มีการร้องทุกข์ตามมาตรา ๖ ภายในสามเดือนนับแต่ผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวอยู่ในวิสัยและมีโอกาสที่จะแจ้งหรือร้องทุกข์ได้ ให้ถือว่าคดีเป็นอันขาดอายุความ แต่ไม่ตัดสิทธิผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวหรือผู้มีส่วนได้เสียจะร้องขอคุ้มครองสวัสดิภาพตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว

               มาตรา ๘  เมื่อมีการร้องทุกข์ภายในอายุความตามมาตรา ๗ แล้ว ให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนโดยเร็วและส่งตัวผู้กระทำความรุนแรงในครอบครัว สำนวนการสอบสวนพร้อมทั้งความเห็นไปยังพนักงานอัยการเพื่อฟ้องคดีต่อศาลภายในสี่สิบแปดชั่วโมงนับแต่ได้ตัวผู้กระทำความรุนแรงในครอบครัว แต่หากมีเหตุจำเป็นทำให้ไม่อาจยื่นฟ้องได้ทันภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้ขอผัดฟ้องต่อศาลได้คราวละไม่เกินหกวัน แต่ทั้งนี้ ต้องไม่เกินสามคราว โดยให้นำกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับโดยอนุโลม
               ในกรณีที่การกระทำความผิดตามมาตรา ๔ วรรคหนึ่ง เป็นความผิดกรรมเดียวกับความผิดตามกฎหมายอื่น ให้ดำเนินคดีความผิดตามมาตรา ๔ วรรคหนึ่ง ต่อศาล รวมไปกับความผิดตามกฎหมายอื่นนั้น เว้นแต่ความผิดตามกฎหมายอื่นนั้นมีอัตราโทษสูงกว่าให้ดำเนินคดีต่อศาลที่มีอำนาจพิจารณาความผิดตามกฎหมายอื่นนั้น โดยให้นำบทบัญญัติทั้งหลายแห่งพระราชบัญญัตินี้ไปใช้บังคับโดยอนุโลม
               ในการสอบปากคำผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พนักงานสอบสวนต้องจัดให้มีจิตแพทย์ นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ หรือบุคคลที่ผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวร้องขอร่วมอยู่ด้วยในขณะสอบปากคำเพื่อให้คำปรึกษา
               ในกรณีจำเป็นเร่งด่วน ซึ่งมีเหตุอันควรไม่อาจรอจิตแพทย์ นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ หรือบุคคลที่ผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวร้องขอ ให้พนักงานสอบสวนทำการสอบปากคำไปก่อนโดยไม่ต้องมีบุคคลดังกล่าวร่วมอยู่ด้วย แต่ต้องบันทึกเหตุที่ไม่อาจรอบุคคลดังกล่าวไว้ในสำนวนการสอบสวน
               หลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินการของพนักงานสอบสวน ให้เป็นไปตามระเบียบที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด

วันพุธที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

วิธีคุ้มครองสวัสดิภาพผู้ถูกกระทำรุนแรงในครอบครัว (โดยย่อ)

               คดีคุ้มครองสวัสดิภาพ ตามข้อบังคับของประธานศาลฎีกา ว่าด้วยวิธีดำเนินคดีคุ้มครองสวัสดิภาพ พ.ศ.๒๕๕๔ มี ๒ ประเภท คือ
                 ๑.  คดีร้องขอให้ศาลคุ้มครองสวัสดิภาพ ผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว
                 ๒.  คดีร้องขอให้ศาลคุ้มครองสวัสดิภาพ ในกรณีที่มีการปฏิบัติต่อเด็กโดยมิชอบด้วยกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองเด็ก ศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีคุ้มครองสวัสดิภาพ ได้แก่ ศาลเยาวชนและครอบครัวที่ผู้เสียหายมีถิ่นที่อยู่หรือมีภูมิลำเนา หรือศาลที่มูลเหตุของคดีเกิดขึ้น
               ผู้มีสิทธิร้องต่อศาล ในคดีที่ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว ได้แก่
                 ๑.  บุคคลในครอบครัวซึ่งถูกกระทำด้วยความรุนแรงตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว
                 ๒. ผู้กระทำการแทน ในกรณีที่บุคคลในครอบครัวซึ่งถูกกระทำไม่อยู่ในสภาพหรือวิสัยที่จะร้องขอได้เอง ซึ่งได้แก่ ญาติ พนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ พนักงานเจ้าหน้าที่ องค์การซึ่งมีหน้าที่ให้ความช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย หรือองค์การซึ่งมีหน้าที่คุ้มครองสวัสดิภาพเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการหรือทุพพลภาพ ครอบครัว หรือบุคคลอื่นใด เพื่อประโยชน์ของผู้ถูกกระทำ
               ผู้มีสิทธิร้องต่อศาล คดีที่มีการปฏิบัติต่อเด็กโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ได้แก่
                 ๑. เด็กหรือผู้ปกครองของเด็ก บิดามารดา ผู้อนุบาล ผู้รับบุตรบุญธรรม และผู้ปกครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และให้หมายความรวมถึงพ่อเลี้ยงแม่เลี้ยง ผู้ปกครองสวัสดิภาพ นายจ้าง ตลอดจนบุคคลอื่นซึ่งรับเด็กไว้ในความอุปการะเลี้ยงดูหรือซึ่งเด็กอาศัยอยู่ด้วย
                 ๒. ผู้กระทำการแทน ในกรณีที่เด็กซึ่งถูกกระทำหรือผู้ปกครองไม่อยู่ในสภาพหรือวิสัยที่จะร้องขอได้เอง ซึ่งได้แก่ ญาติ พนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ พนักงานเจ้าหน้าที่ องค์การซึ่งมีหน้าที่ให้ความช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย หรือองค์การซึ่งมีหน้าที่คุ้มครองสวัสดิภาพเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการหรือทุพพลภาพ ครอบครัว หรือบุคคลอื่นใด เพื่อประโยชน์ของผู้ถูกกระทำ
               ผู้ร้อง อาจยื่นคำร้องขอเป็นหนังสือตามแบบพิมพ์ คส. ๑ หรือมาแถลงด้วยวาจา เพื่อให้ศาลบันทึกไว้ตามแบบพิมพ์ คส. ๒ ก็ได้ ผู้ร้องจะยื่นบัญชีระบุพยานพร้อมกับยื่นคำร้องขอ หรือจะแถลงให้ศาลบันทึกว่าจะสืบพยานหลักฐานใดบ้างก็ได้
               ในกรณีมีเหตุฉุกเฉิน ผู้ร้องจะยื่นคำร้องขอคุ้มครองสวัสดิภาพในเหตุฉุกเฉินรวมไปด้วยกับคำร้องขอคุ้มครองสวัสดิภาพ เพื่อให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองสวัสดิภาพโดยมิชักช้า หรือจะยื่นในเวลาใด ๆ ระหว่างไต่สวนก็ได้ ตามแบบพิมพ์ คส. ๓ ที่กำหนดไว้ท้ายข้อบังคับนี้
               หากมีเหตุจำเป็นเร่งด่วน ไม่สามารถจัดทำคำร้องขอคุ้มครองสวัสดิภาพในเหตุฉุกเฉินได้ทัน ผู้ร้องจะแถลงด้วยวาจาต่อศาล ก็ให้ศาลจดข้อความและให้ลงชื่อไว้แล้วรีบไต่สวนและมีคำสั่งในทันที
               ผู้ถูกกล่าวหา อาจยื่นคำให้การเป็นหนังสือ หรือมาแถลงด้วยวาจา เพื่อให้ศาลจดบันทึกไว้ก็ได้ ผู้ถูกกล่าวหาจะยื่นบัญชีระบุพยานพร้อมกับการยื่นคำให้การ หรือจะแถลงให้ศาลบันทึกว่า จะสืบพยานหลักฐานใดบ้างก็ได้
               หากข้อเท็จจริงตามทางไต่สวนฟังได้ตามที่ผู้ร้องกล่าวอ้าง และมีพฤติการณ์อันน่าจะก่อให้เกิดอันตรายแก่ร่างกาย จิตใจ หรือสุขภาพของผู้เสียหาย และคำขอให้ศาลสั่งคุ้มครองสวัสดิภาพอยู่ภายใต้วิธีการและมาตรการที่กฎหมายกำหนด ก็ให้ศาลสั่งคุ้มครองสวัสดิภาพตามคำร้องขอหรือตามสมควรแก่กรณี โดยคำนึงถึงการรักษาความสัมพันธ์อันดีในครอบครัวหรือประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสำคัญ ทั้งนี้ ให้มีกำหนดเวลาไม่เกินหกเดือน
               กรณีขอให้มีการคุ้มครองเด็กที่มีการปฏิบัติโดยมิชอบด้วยกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองเด็ก
ศาลอาจมีคำสั่งให้ผู้ปกครองต้องปฏิบัติ หรือห้ามมิให้ผู้ใดกระทำการตามบทบัญญัติเกี่ยวกับการปฏิบัติต่อเด็กตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองเด็กด้วยก็ได้
               เมื่อศาลเห็นสมควร ศาลอาจสั่งให้ผู้ร้องซึ่งมีส่วนก่อให้เกิดความรุนแรงในครอบครัว เข้ารับคำปรึกษาแนะนำ หรือเข้ารับการอบรม หรือบำบัดรักษาหรือฟื้นฟู ตามระยะเวลาที่กำหนด คำสั่งคุ้มครองสวัสดิภาพเมื่อมีการปฏิบัติครบถ้วนแล้วก็เป็นอันสิ้นสุด และก่อนมีการปฏิบัติครบถ้วน ผู้ถูกกล่าวหาหรือผู้ร้องมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งยุติได้
              ให้แจ้งคำสั่ง ไปยังเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจที่ผู้ถูกกล่าวหามีถิ่นที่อยู่หรือภูมิลำเนาในเขตอำนาจเพื่อทราบตามแบบพิมพ์ คส. ๖ ที่กำหนดไว้ท้ายข้อบังคับนี้ ในกรณีศาลมีคำสั่งให้นักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยา พนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวหรือกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองเด็ก หรือเจ้าพนักงานอื่นติดตามกำกับให้ผู้ถูกกล่าวหาปฏิบัติตามคำสั่งศาลและกำหนดระยะเวลารายงานให้ศาลทราบ ให้ศาลมีหนังสือแจ้งคำสั่งให้บุคคลดังกล่าวทราบโดยใช้แบบพิมพ์ คส. ๗ ที่กำหนดไว้ท้ายข้อบังคับนี้       
บทความที่เกี่ยวข้อง
ความหมายความรุนแรงในครอบครัว     
การสอบสวนคดีความรุนแรงในครอบครัว   

วันเสาร์ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

กำชับการสอบสวนผู้ต้องหาที่เป็นเด็กหรือเยาวชน

               ในการทำสำนวนการสอบสวนคดีที่ผู้ต้องหาเป็นเด็กหรือเยาวชน ให้เป็นไปด้วยความถูกต้อง รวดเร็ว ที่พนักงานอัยการสามารถฟ้องผู้ต้องหาต่อศาลได้ พนักงานสอบสวนควรดำเนินการให้ครบถ้วน ดังต่อไปนี้
               ๑.  แจ้งการดำเนินคดีกับผู้ต้องหาไปยังสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดฯ และติดตามรายงานการสืบเสาะฯ มารวมไว้ในสำนวนด้วย
               ๒.  ให้จัดทำบันทึกการถามปากคำเบื้องต้น ตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.๒๕๕๓ มาตรา ๗๐ ด้วย (ยังไม่มีแบบฟอร์มที่เป็นมาตรฐาน)
                    "มาตรา ๗๐  เมื่อพนักงานสอบสวนได้รับตัวเด็กหรือเยาวชนซึ่งถูกจับ หรือเด็กหรือเยาวชนซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดถูกเรียกมา ส่งตัวมา เข้าหาพนักงานสอบสวนเอง มาปรากฏตัวอยู่ต่อหน้าพนักงานสอบสวน หรือมีผู้นำตัวเด็กหรือเยาวชนนั้นเข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวน และคดีนั้นเป็นคดีที่ต้องพิจารณาพิพากษาในศาลเยาวชนและครอบครัว ให้พนักงานสอบสวนรีบสอบถามเด็กหรือเยาวชนในเบื้องต้นเพื่อทราบชื่อตัว ชื่อสกุล อายุ สัญชาติ ถิ่นที่อยู่ สถานที่เกิดและอาชีพของเด็กหรือเยาวชน ตลอดจนชื่อตัว ชื่อสกุล และรายละเอียดเกี่ยวกับบิดา มารดา ผู้ปกครอง บุคคลหรือองค์การซึ่งเด็กหรือเยาวชนอาศัยอยู่ด้วย แล้วแจ้งข้อกล่าวหาให้บุคคลดังกล่าวทราบ และแจ้งให้ผู้อำนวยการสถานพินิจที่เด็กหรือเยาวชนนั้นอยู่ในเขตอำนาจ เพื่อดำเนินการตามมาตรา ๘๒
                      การสอบถามเบื้องต้นตามวรรคหนึ่ง ให้กระทำในสถานที่ที่เหมาะสม โดยไม่เลือกปฏิบัติและไม่ปะปนกับผู้ต้องหาอื่นหรือมีบุคคลอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องอยู่ในสถานที่นั้นอันมีลักษณะเป็นการประจานเด็กหรือเยาวชน ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงอายุ เพศ สภาวะของเด็กหรือเยาวชนเป็นสำคัญ และต้องใช้ภาษาหรือถ้อยคำที่ทำให้เด็กหรือเยาวชนสามารถเข้าใจได้โดยง่าย โดยคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ถ้าเด็กหรือเยาวชนไม่สามารถสื่อสารหรือไม่เข้าใจภาษาไทยก็ให้จัดหาล่ามให้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา หรือจัดหาเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกหรือความช่วยเหลืออื่นใดให้ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ หากเด็กหรือเยาวชนประสงค์จะติดต่อสื่อสารหรือปรึกษาหารือกับบิดา มารดา ผู้ปกครอง บุคคลหรือผู้แทนองค์การซึ่งเด็กหรือเยาวชนอาศัยอยู่ด้วยและอยู่ในวิสัยที่จะดำเนินการได้ ให้พนักงานสอบสวนดำเนินการให้ตามควรแก่กรณีโดยไม่ชักช้า"
               ๓.  ในการถามปากคำเด็กและเยาวชนที่ต้องหาว่ากระทำผิด ขอให้มีที่ปรึกษากฎหมายอยู่ด้วยทุกครั้ง ตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.๒๕๕๓ มาตรา ๗๕ วรรคสอง
                    "มาตรา ๗๕  ในการสอบสวน ให้กระทำในสถานที่ที่เหมาะสมโดยไม่เลือกปฏิบัติและไม่ปะปนกับผู้ต้องหาอื่นหรือมีบุคคลอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องอยู่ในสถานที่นั้นอันมีลักษณะเป็นการประจานเด็กหรือเยาวชน ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงอายุ เพศ สภาวะของเด็กหรือเยาวชนเป็นสำคัญ และต้องใช้ภาษาและถ้อยคำที่ทำให้เด็กหรือเยาวชนสามารถเข้าใจได้ง่าย โดยคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ถ้าเด็กหรือเยาวชนไม่สามารถสื่อสารหรือไม่เข้าใจภาษาไทยให้จัดหาล่ามให้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาหรือจัดหาเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกหรือความช่วยเหลืออื่นใดให้ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
                    ในการแจ้งข้อกล่าวหาและสอบปากคำเด็กหรือเยาวชนซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดจะต้องมีที่ปรึกษากฎหมายของเด็กหรือเยาวชนร่วมอยู่ด้วยทุกครั้ง พร้อมทั้งแจ้งด้วยว่าเด็กหรือเยาวชนมีสิทธิที่จะไม่ให้การหรือให้การก็ได้ และถ้อยคำของเด็กหรือเยาวชนอาจใช้เป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาคดีได้ ทั้งนี้ เมื่อคำนึงถึงอายุ เพศ และสภาพจิตของเด็กหรือเยาวชนซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดแต่ละราย
                      ในการแจ้งข้อหาและการสอบปากคำเด็กหรือเยาวชนตามวรรคสอง บิดา มารดา ผู้ปกครอง บุคคลหรือผู้แทนองค์การซึ่งเด็กหรือเยาวชนอาศัยอยู่ด้วยจะเข้าร่วมรับฟังการสอบสวนดังกล่าวด้วยก็ได้"