วันเสาร์ที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2559

คำสั่ง ตร. กำชับการปฏิบัติต่อเด็กและเยาวชน

ด่วนที่สุด                                                    บันทึกข้อความ
ส่วนราชการ               ตร.                                                                   โทร.  ๐ ๒๒๐๕ ๓๔๗๒
ที่          ๐๐๑๑.๒๕/๒๐๕๖                                                                 วันที่   ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๕๔
เรื่อง     แนวทางปฎิบัติตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. ๒๕๕๓
 ผบช.น.,ภ.๑-๙,ศชต.,ก.,ปส.,สตม.,สนว.,กมค. และ จตร.(หน.จต.)

               ด้วยได้มีพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.๒๕๕๓ ใช้บังคับ โดยยกเลิกพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.๒๕๓๔ พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๔๓ พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว (ฉบับที่ ๓) พ.ศ.๒๕๔๘ พระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวนี้มีเจตนารมณ์ในการคุ้มครองสิทธิ สวัสดิภาพและวิธีปฏิบัติต่อเด็ก เยาวชนและบุคคลในครอบครัวรวมทั้งกระบวนการพิจารณาของศาลเยาวชนและครอบครัว เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กเป็นสำคัญและได้มีบทบัญญัติที่เปลี่ยนแปลงหน้าที่ของเจ้าพนักงานตำรวจและพนักงานสอบสวนเกี่ยวกับการปฎิบัติต่อเด็กหรือเยาวชนที่ถูกจับกุมหรือดำเนินคดีอาญาหลายกรณี
              ดังนั้น เพื่อให้การปฏิบัติของเจ้าพนักงานตำรวจและพนักงานสอบสวนเป็นไปโดยถูกต้องตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวจึงกำหนดแนวทางปฎิบัติไว้ดังนี้
             ๑. บททั่วไป
                 ๑.๑ พระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.๒๕๕๓ มีผลใช้ บังคับตั้งแต่วันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๔ เป็นต้นไป
                 ๑.๒ คดีอาญาที่อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลเยาวชนและครอบครัว ได้แก่
                        (๑) คดีอาญาใด ๆ ที่มีข้อกล่าวหาว่าเด็กหรือเยาวชนกระทำความผิด
                        (๒) คดีอาญาที่มีข้อกล่าวหาว่าผู้ใหญ่ (อายุ ๑๘ ปีบริบูรณ์ขึ้นไป) กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.๒๕๔๖ และพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.๒๕๕๐
                 ๑.๓ คดีอาญาใด ๆ ที่มีข้อกล่าวหาว่าเด็กหรือเยาวชนกระทำความผิดและคดีอาญาที่มีข้อกล่าวหาว่าผู้ใหญ่กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.๒๕๕๐  แม้การสอบสวนผู้ต้องหาจะให้การรับสารภาพตลอดข้อหาก็ตาม พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบจะต้องทำการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานและส่งสำนวนการสอบสวนพร้อมความเห็นไปยังพนักงานอัยการ พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบจะนำตัวผู้ต้องหาส่งพนักงานอัยการเพื่อฟ้องศาลด้วยวาจาโดยไม่ทำการสอบสวนไม่ได้ ทั้งนี้ เพราะพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.๒๕๕๓ มาตรา ๗๘ วรรคหนึ่ง และพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.๒๕๕๐ มาตรา ๘ วรรคหนึ่ง ได้บัญญัติไว้ในทำนองเดียวกันว่า ให้พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบทำการสอบสวนและส่งสำนวนการสอบสวนพร้อมทั้งความเห็นไปยังพนักงานอัยการ
             ๒. การจับกุมและการควบคุมเด็กหรือเยาวชน
                  ๒.๑ ห้ามมิให้จับกุมเด็กซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิด เว้นแต่ เด็กนั้นได้กระทำความผิดซึ่งหน้า หรือมีหมายจับหรือคำสั่งของศาล
                  การจับกุมเยาวชนซึ่งต้องหาว่า กระทำความผิดให้เป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
                ๒.๒ ห้ามมิให้ควบคุม คุมขัง กักขัง หรือใช้มาตรการอื่นใดอันมีลักษณะเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของเด็กหรือเยาวชนซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิด เว้นแต่มีหมายหรือคำสั่งของศาลหรือเป็นกรณีการคุมตัวเท่าที่จำเป็นเพื่อดำเนินการนำตัวเด็กหรือเยาวชนไปศาลเพื่อตรวจสอบการจับกุม

วันพฤหัสบดีที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2559

กำหนดเวลาเล่นเกมของเด็กในร้านวีดิทัศน์

พระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. ๒๕๕๑
            มาตรา ๕๓  ห้ามผู้ใดจัดตั้งหรือประกอบกิจการร้านวีดิทัศน์โดยทำเป็นธุรกิจหรือได้รับประโยชน์ตอบแทน เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียน
              ใบอนุญาตนั้น ให้ออกสำหรับร้านวีดิทัศน์แต่ละแห่ง
              การขอใบอนุญาตและการออกใบอนุญาตให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง
              ความในวรรคหนึ่งมิให้นำมาใช้บังคับแก่การประกอบกิจการร้านวีดิทัศน์ที่ตั้งอยู่ในสถานบริการที่ได้รับใบอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยสถานบริการ
              เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองเด็กและเยาวชน การออกกฎกระทรวงตามวรรคสามจะกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับอาคารหรือสถานที่ตั้งของร้านวีดิทัศน์ด้วยก็ได้
             มาตรา ๕๙  การประกอบกิจการร้านวีดิทัศน์จะต้องกระทำในวัน เวลา และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง
             เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองเด็กและเยาวชน การออกกฎกระทรวงตามวรรคหนึ่งจะกำหนดเวลาในการเข้าใช้บริการของผู้ซึ่งมีอายุต่ำกว่าสิบแปดปีบริบูรณ์ แต่ไม่รวมถึงผู้ซึ่งบรรลุนิติภาวะโดยการสมรสด้วยก็ได้
             มาตรา ๗๑  ในกรณีที่ปรากฏแก่นายทะเบียนว่าผู้รับใบอนุญาตตามมาตรา ๕๓ ประกอบกิจการโดยฝ่าฝืนมาตรา ๕๙ หรือมาตรา ๖๐ ให้นายทะเบียนมีอำนาจสั่งพักใช้ใบอนุญาตได้โดยมีกำหนดเวลาตามที่เห็นสมควรแต่ไม่เกินครั้งละเก้าสิบวัน
              ในกรณีที่ผู้รับใบอนุญาตตามวรรคหนึ่งประกอบกิจการโดยฝ่าฝืนมาตรา ๕๙ หรือมาตรา ๖๐ อีกให้นายทะเบียนมีอำนาจสั่งเพิกถอนใบอนุญาตของผู้รับใบอนุญาตดังกล่าว
             มาตรา ๘๒  ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๕๓ วรรคหนึ่ง มาตรา ๕๔ วรรคหนึ่ง หรือประกอบกิจการดังกล่าวในระหว่างถูกพักใช้หรือถูกเพิกถอนใบอนุญาต ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงห้าแสนบาท และปรับอีกไม่เกินวันละหนึ่งหมื่นบาทตลอดระยะเวลาที่ฝ่าฝืนอยู่

กฎกระทรวง ว่าด้วย การอนุญาตและการประกอบกิจการร้านวีดิทัศน์ พ.ศ. ๒๕๕๒
              อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๖ มาตรา ๕๓ วรรคสาม มาตรา ๕๖ และมาตรา ๕๙ แห่งพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. ๒๕๕๑
              ข้อ ๑  ในกฎกระทรวงนี้
               “เครื่องมือสำหรับฉายหรือเล่นวีดิทัศน์” หมายความว่า ชุดของเครื่องมือและอุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นใดที่เชื่อมการทำงานเข้าด้วยกันเพื่อให้สามารถฉาย เล่น หรือดูวีดิทัศน์ได้
               หมวด ๒  การประกอบกิจการร้านวีดิทัศน์
               ข้อ ๑๒  ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการร้านวีดิทัศน์ที่ให้บริการเกมการเล่น ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไข ดังต่อไปนี้
               (๑) ให้เด็กอายุต่ำกว่าสิบห้าปีเข้าใช้บริการได้ตั้งแต่เวลา ๑๔.๐๐ นาฬิกา แต่ไม่เกิน ๒๐.๐๐ นาฬิกา ในวันจันทร์ถึงวันศุกร์ และตั้งแต่เวลา ๑๐.๐๐ นาฬิกา แต่ไม่เกิน ๒๐.๐๐ นาฬิกา ในวันหยุดราชการ หรือในระหว่างปิดภาคการศึกษาตามระยะเวลาที่นายทะเบียนกลางประกาศกำหนด
               (๒) ให้เด็กอายุตั้งแต่สิบห้าปีขึ้นไปแต่ไม่เกินสิบแปดปีเข้าใช้บริการได้ตั้งแต่เวลา ๑๔.๐๐ นาฬิกา แต่ไม่เกิน ๒๒.๐๐ นาฬิกา ในวันจันทร์ถึงวันศุกร์ และตั้งแต่เวลา ๑๐.๐๐ นาฬิกา แต่ไม่เกิน ๒๒.๐๐ นาฬิกา ในวันหยุดราชการ หรือในระหว่างปิดภาคการศึกษาตามระยะเวลาที่นายทะเบียนกลางประกาศกำหนด
               (๓) มีวัสดุหรืออุปกรณ์ที่ใช้กับเครื่องมือสำหรับฉายหรือเล่นวีดิทัศน์ซึ่งเหมาะสมต่อการถนอมสายตา
               (๔) มีระบบหรือวัสดุป้องกันเสียงและความสั่นสะเทือนไม่ให้เกินค่าระดับเสียงรบกวนตามที่กฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติกำหนด
               (๕) ดูแลมิให้มีการจำหน่ายบุหรี่ สารเสพติด หรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ภายในร้านวีดิทัศน์
               (๖) ดูแลมิให้มีการสูบบุหรี่ เสพสารเสพติด หรือดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ภายในร้านวีดิทัศน์
               (๗) ดูแลมิให้มีการเล่นการพนันภายในร้านวีดิทัศน์
               (๘) ดูแลมิให้มีการจำหน่ายหรือฉายภาพยนตร์ตามมาตรา ๒๖ (๖) และ (๗) ภายในร้านวีดิทัศน์
               (๙) ดูแลมิให้มีสื่อลามกอนาจารภายในร้านวีดิทัศน์
               (๑๐) ดูแลมิให้มีการจำหน่ายหรือฉายวีดิทัศน์ที่ไม่ผ่านการตรวจพิจารณาและไม่ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ตามมาตรา ๔๗ ภายในร้านวีดิทัศน์ความในวรรคหนึ่ง (๒) ไม่ใช้บังคับกับผู้ซึ่งบรรลุนิติภาวะโดยการสมรส

วันพุธที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2559

การส่งเสริมความประพฤตินักเรียนและนักศึกษา

พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.๒๕๔๖
             มาตรา ๔  ในพระราชบัญญัตินี้
             “เด็ก” หมายความว่า บุคคลซึ่งมีอายุต่ำกว่าสิบแปดปีบริบูรณ์ แต่ไม่รวมถึงผู้ที่บรรลุนิติภาวะด้วยการสมรส
             “นักศึกษา” หมายความว่า เด็กซึ่งกำลังรับการศึกษาระดับอุดมศึกษาหรือเทียบเท่าอยู่ในสถานศึกษาของรัฐหรือเอกชน
             “นักเรียน” หมายความว่า เด็กซึ่งกำลังรับการศึกษาขั้นพื้นฐานระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ทั้งประเภทสามัญศึกษาและอาชีวศึกษาหรือเทียบเท่าอยู่ในสถานศึกษาของรัฐหรือเอกชน
             “บิดามารดา” หมายความว่า บิดามารดาของเด็กไม่ว่าจะสมรสกันหรือไม่
             “ผู้ปกครอง” หมายความว่า บิดามารดา ผู้อนุบาล ผู้รับบุตรบุญธรรม และผู้ปกครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และให้หมายความรวมถึง พ่อเลี้ยงแม่เลี้ยง ผู้ปกครองสวัสดิภาพ นายจ้าง ตลอดจนบุคคลอื่นซึ่งรับเด็กไว้ในความอุปการะเลี้ยงดูหรือซึ่งเด็กอาศัยอยู่ด้วย

             “พนักงานเจ้าหน้าที่” หมายความว่า ผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
             หมวด ๗  การส่งเสริมความประพฤตินักเรียนและนักศึกษา
             มาตรา ๖๓  โรงเรียนและสถานศึกษา ต้องจัดให้มีระบบงานและกิจกรรมในการแนะแนวให้คำปรึกษาและฝึกอบรมแก่นักเรียน นักศึกษา และผู้ปกครอง เพื่อส่งเสริมความประพฤติที่เหมาะสม ความรับผิดชอบต่อสังคม และความปลอดภัยแก่นักเรียนและนักศึกษา ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง
            มาตรา ๖๔  นักเรียนและนักศึกษา ต้องประพฤติตนตามระเบียบของโรงเรียนหรือสถานศึกษา และตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
            มาตรา ๖๕  นักเรียนหรือนักศึกษาผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๖๔ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนด และมีอำนาจนำตัวไปมอบแก่ผู้บริหารโรงเรียนหรือสถานศึกษาของนักเรียนหรือนักศึกษานั้น เพื่อดำเนินการสอบถามและอบรมสั่งสอนหรือลงโทษตามระเบียบ ในกรณีที่ไม่สามารถนำตัวไปมอบได้จะแจ้งด้วยวาจาหรือเป็นหนังสือก็ได้
            เมื่อได้อบรมสั่งสอนหรือลงโทษนักเรียนหรือนักศึกษาแล้ว ให้พนักงานเจ้าหน้าที่หรือผู้บริหารโรงเรียนหรือสถานศึกษา แจ้งให้ผู้ปกครองว่ากล่าวตักเตือนหรือสั่งสอนเด็กอีกชั้นหนึ่ง
            การลงโทษนักเรียนหรือนักศึกษา ให้กระทำเท่าที่สมควรเพื่อการอบรมสั่งสอนตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนด
           มาตรา ๖๖  พนักงานเจ้าหน้าที่ตามหมวดนี้ มีอำนาจดำเนินการเพื่อส่งเสริมความประพฤตินักเรียนและนักศึกษา ดังต่อไปนี้
            (๑)  สอบถามครู อาจารย์ หรือหัวหน้าสถานศึกษา เกี่ยวกับความประพฤติการศึกษา นิสัยและสติปัญญาของนักเรียนหรือนักศึกษาที่ฝ่าฝืนมาตรา ๖๔
            (๒)  เรียกให้ผู้ปกครอง ครู อาจารย์ หรือหัวหน้าสถานศึกษาที่นักเรียนหรือนักศึกษานั้นกำลังศึกษาอยู่มารับตัวนักเรียนหรือนักศึกษา เพื่อว่ากล่าวอบรมสั่งสอนต่อไป
            (๓)  ให้คำแนะนำแก่ผู้ปกครองในเรื่องการอบรมและสั่งสอนนักเรียนหรือนักศึกษา
            (๔)  เรียกผู้ปกครองมาว่ากล่าวตักเตือน หรือทำทัณฑ์บนว่าจะปกครองดูแลมิให้นักเรียนหรือนักศึกษาฝ่าฝืนมาตรา ๖๔ อีก
            (๕)  สอดส่องดูแลรวมทั้งรายงานต่อคณะกรรมการเกี่ยวกับพฤติกรรมของบุคคลหรือแหล่งที่ชักจูงนักเรียนหรือนักศึกษาให้ประพฤติในทางมิชอบ
            (๖)  ประสานงานกับผู้บริหารโรงเรียนหรือสถานศึกษา ครู ผู้ปกครอง ตำรวจ หรือพนักงานเจ้าหน้าที่อื่นเพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามหมวดนี้