วันเสาร์ที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2557

อำนาจสอบสวนกรณีผู้เยาว์เป็นผู้เสียหาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๓๐๐/๒๕๕๔
ป.อ.  ทำร้ายร่างกายเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส  (มาตรา ๒๙๗ , ๒๙๘)
ป.วิ.อ.  อำนาจฟ้อง  อำนาจสอบสวน    (มาตรา ๑๒๐ , ๑๒๑)
             ความผิดฐานทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้ผู้ถูกทำร้ายรับอันตรายสาหัส เป็นความผิดอาญาแผ่นดิน ไม่ใช่ความผิดต่อส่วนตัว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๒๑ วรรคสอง ที่บัญญัติห้ามมิให้ทำการสอบสวน เว้นแต่จะมีคำร้องทุกข์ตามระเบียบ 
             เมื่อปรากฎว่านาย ต. ซึ่งเป็นบิดาของผู้เสียหายอายุ ๑๘ ปี และยังเป็นผู้เยาว์อยู่ ได้ไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่จำเลยในความผิดดังกล่าว อันถือว่า เป็นการกล่าวโทษด้วย พนักงานสอบสวนซึ่งมีอำนาจสอบสวนคดีอาญาทั้งปวง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๒๑ วรรคหนึ่ง ย่อมมีอำนาจสอบสวน และพนักงานอัยการย่อมมีอำนาจฟ้อง 
            จึงไม่ต้องห้ามยื่นคำฟ้องต่อศาล ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๒๐ ทั้งนาย ต. ไม่ได้เป็นโจทก์ฟ้องจำเลยเอง หรือเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ กรณีจึงไม่จำต้องพิจารณาว่า นาย ต. เป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้เสียหายหรือไม่ พนักงานอัยการโจทก์มีอำนาจฟ้อง

วันศุกร์ที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

การให้ข่าวผู้ต้องหาหรือเด็กในคดีอาญา

               สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้มีคำสั่ง ตร. ที่ ๐๐๑๑.๒๕/๔๙๗๖ ลง ๑๙ พ.ย.๒๕๔๖ กำชับการปฏิบัติเกี่ยวกับการนำเด็กมาให้ข่าว แถลงข่าว และนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพไว้โดยมีใจความดังนี้
               บุคคลซึ่งมีอายุต่ำกว่าสิบแปดปีบริบูรณ์ ซึ่งเกี่ยวข้องกับคดีอาญา ไม่ว่าจะเป็นผู้เสียหายหรือผู้กระทำความผิดตลอดจนเป็นพยานรู้เห็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เจ้าพนักงานตำรวจไม่สามารถนำบุคคลดังกล่าวไปให้ข่าว หรือแถลงข่าว ทางสื่อสารมวลชน หรือสื่อสารสนเทศประเภทใด ๆ ซึ่งเป็นการห้ามโดยเด็ดขาด  แม้ว่า เจ้าพนักงานตำรวจจะใช้หมวกหรือผ้าคลุมหน้าไหมพรมปิดบังใบหน้าบุคคลนั้นเอาไว้เพื่อไม่ให้เห็นใบหน้า ในการแถลงข่าว หรือเผยแพร่สู่สาธารณชนทางสารสนเทศใด ๆ ก็มิอาจจะกระทำได้ทั้งสิ้น
              บุคคลซึ่งมีอายุต่ำกว่าสิบแปดปีบริบูรณ์เมื่อตกเป็นผู้ต้องหาว่ากระทำความผิดอาญา เจ้าพนักงานตำรวจไม่สามารถนำไปชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพโดยเด็ดขาด ยกเว้นมีกรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการสอบสวน จำเป็นต้องจัดให้ผู้ต้องหานั้นนำชี้ที่เกิดเหตุ เจ้าพนักงานตำรวจต้องไม่แจ้งหรือจัดให้สื่อมวลชนหรือสารสนเทศใดไปทำข่าว หากมีสื่อมวลชนหรือสื่อสารสนเทศประเภทใดทราบและติดตามไปเอง พนักงานสอบสวนหรือเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เกี่ยวข้องต้องแจ้งถึงข้อห้ามในการปฏิบัติ รวมทั้งข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องซึ่งอาจเป็นการกระทำที่เป็นความผิดตามกฎหมาย เช่น
               รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๒๖ มาตรา ๓๙
               พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.๒๕๔๖  มาตรา ๒๗ มาตรา ๗๙
               พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.๒๕๕๐ มาตรา ๙
               พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.๒๕๕๑ มาตรา ๕๖
               พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.๒๕๕๓ มาตรา ๗๖ มาตรา ๑๓๐ มาตรา ๑๙๒
               ทั้งนี้ ข้อห้ามในเรื่องการนำผู้เกี่ยวข้องกับคดีอาญาไปให้ข่าวกับข้อห้ามการจัดให้ผู้ต้องหานำชี้ที่เกิดเหตุ ทั้งสองข้อนั้น เป็นการห้ามโดยเด็ดขาด รวมไปถึงกรณีที่ให้ผู้ต้องหานำไปชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพแล้วถูกผู้เสียหายหรือประชาชนเข้าไปทำร้ายหรือพยายามทำร้ายร่างกายผู้ต้องหา หรือมีการโต้เถียงกับญาติผู้เสียหาย หรือนำผู้ต้องหาไปขอขมาศพต่อญาติผู้เสียหายแล้วถูกญาติผู้เสียหายทำร้าย
               เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายหรือส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ ตร. จึงได้มอบหมายให้กองสารนิเทศ (สท.) ดำเนินการตรวจสอบ ติดตาม และเฝ้าระวังผ่านทางสื่อสารมวลชนหรือสื่อสารสนเทศประเภทต่างๆ หากพบข้าราชการตำรวจฝ่าฝืน บกพร่อง หรือไม่ปฏิบัติตามข้อห้ามดังกล่าว ก็จะดำเนินการทางวินัยตำรวจต่อไป
               ต่อมา ได้มีคำสั่ง ตร.ที่ ๘๕๕/๒๕๔๘ เรื่อง การปฏิบัติเกี่ยวกับการให้ข่าว  การแถลงข่าว  การให้สัมภาษณ์  การเผยแพร่ภาพ ต่อสื่อมวลชน  และการจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์  กำหนดให้ข้าราชการตำรวจ ห้ามจัดให้สื่อมวลชนทุกแขนงเข้าทำข่าว ขณะเมื่อมีการให้ผู้ต้องหานำพนักงานสอบสวนไปชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพ  และหลีกเลี่ยงการให้สัมภาษณ์ใด ๆ ในลักษณะเป็นการโต้ตอบระหว่างพนักงานสอบสวนกับผู้ต้องหา หรือบุคคลใด โดยมีสื่อมวลชนทุกแขนงเป็นผู้สัมภาษณ์เนื่องจากอาจเป็นเหตุให้รูปคดีเสียหาย
              พนักงานสอบสวนไม่ควรให้ผู้ต้องหานำไปชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพว่า ผู้ต้องหากระทำผิดอย่างไร  เพราะการนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพดังกล่าวมิใช่พยานหลักฐานที่จะนำมารับฟังประกอบคำรับสารภาพของผู้ต้องหา เพื่อให้เห็นว่าผู้ต้องหากระทำผิดตามแนวคำพิพากษาฎีกาที่ ๗๕๖๒/๒๕๓๗  แต่ถ้าเป็นการนำชี้ประกอบคำรับอื่น เช่น นำชี้จุดที่ซ่อนทรัพย์สินซึ่งได้มาจากการกระทำผิด สิ่งของที่มีไว้เป็นความผิด ได้ใช้  หรือจะใช้ในการกระทำผิด  หรือสงสัยว่าจะใช้ในการกระทำความผิด หรืออาจใช้เป็นพยานหลักฐาน ให้ผู้ต้องหานำชี้ได้และป้องกันมิให้ผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าไปในที่นำชี้ ให้พึงระมัดระวังการใช้ถ้อยคำ หรือกิริยาท่าทางที่เห็นว่าเป็นการข่มขู่ หรือการปฏิบัติที่ไม่สมควรแก่ผู้ต้องหา รวมทั้งการทำร้ายร่ายกายผู้ต้องหา
              ไม่ว่ากรณีใด ๆ ก็ตาม ห้ามเจ้าพนักงานนำผู้ต้องหาที่เป็นเด็กอายุไม่เกิน 18 ปีบริบูรณ์ ไปชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพ  เพราะจะเป็นการประจานเด็ก  และอาจเป็นการกระทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับเด็ก นอกจากนี้ห้ามนำผู้เสียหาย พยาน เข้าร่วมในการนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพของผู้ต้องหาเป็นอันขาด โดยเฉพาะผู้เสียหายที่เป็นเด็ก สตรี พระภิกษุสามเณร นักพรต นักบวช
               ห้ามนำหรือจัดให้ผู้เสียหาย ผู้ต้องหา หรือพยาน มาให้ข่าวแถลงข่าวหรือให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนทุกแขนง  ยกเว้นกรณีที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน ให้ขออนุญาตต่อผู้บัญชาการ
               ไม่ว่ากรณีใด ๆ ก็ตาม ห้ามนำผู้เสียหาย ผู้ต้องหา หรือพยานที่เป็นเด็กอายุไม่เกิน 18 ปีบริบูรณ์ พระภิกษุสามเณร  นักพรต  นักบวช  ผู้เสียหายที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ มาให้ข่าวแถลงข่าว หรือให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนทุกแขนงเป็นอันขาด  รวมตลอดถึงการชี้ตัวผู้ต้องหาในลักษณะที่เป็นการเผชิญหน้าต่อสื่อมวลชนทุกแขนง
               ต่อมา  ได้มีคำสั่ง ตร.ที่ ๔๑๙/๒๕๕๖ ลง ๑ ก.ค.๒๕๕๖ ข้อ ๖.๑๐.๒ กำหนดให้ พนักงานสอบสวนไม่ควรให้ผู้ต้องหานำไปชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพว่าผู้ต้องหากระทำผิดอย่างไร แต่ถ้าเป็นการนำชี้ประกอบคำรับอื่น เช่น นำชี้จุดที่ซ่อนทรัพย์สิน ซึ่งได้มาจากการกระทำผิด สิ่งของที่มีไว้เป็นความผิด ได้ใช้ หรือจะใช้ในการกระทำผิด หรือสงสัยว่าจะใช้ในการกระทำผิด หรืออาจใช้เป็นพยานหลักฐาน อาจให้ผู้ต้องหานำชี้ก็ได้ และป้องกันมิให้ผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าไปในที่นำชี้ และให้พึงระมัดระวังการใช้ถ้อยคำ หรือกิริยาทางท่าทางที่เห็นว่าเป็นการข่มขู่หรือการปฏิบัติการที่ไม่สมควรแก่ผู้ต้องหา
             ไม่ว่ากรณีใดก็ตาม ห้ามมิให้ผู้ต้องหาที่เป็นเด็กอายุไม่เกินสิบแปดปีบริบูรณ์ไปชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพเพราะจะเป็นการประจานเด็ก และอาจเป็นการกระทำผิดตามกฎหมายเกี่ยวกับเด็ก รวมทั้งห้ามมิให้นำผู้ต้องหาไปขอขมาศพหรือบิดา มารดา สามี ภรรยา ญาติ มิตรสหายหรือผู้ปกครองของผู้ตาย นอกจากนี้ ห้ามนำผู้เสียหาย พยาน เข้าร่วมในการนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพของผู้ต้องหาเป็นอันขาด โดยเฉพาะผู้เสียหายที่เป็นเด็ก สตรี พระภิกษุ สามเณร นักพรต นักบวช